ไม่พบผลการค้นหา
ก.ตร.รับทราบยอด ไล่ออก-ปลดตำรวจเหตุผิดวินัยร้ายแรง ประจำเดือน พ.ย. 14 ราย ภาพรวมปี 65 รวม 229 คน - มีมติอุทธรณ์ปม รอง ผบช.ภ.8 ฟ้องยกเลิกออกคำสั่งแต่งตั้งยุค 'ประวิตร' รักษาการฯ แม้ศาลปกครองยกฟ้อง เพื่อแจงข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ก.ตร. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมมีการรายงานสรุปยอดข้าราชการตำรวจที่ทำผิดวินัยร้ายแรง ในรอบปี 2565 ช่วงเดือนพฤศจิกายน ได้ดำเนินการไล่ออกจากข้าราชการตำรวจ 9 ราย ปลดออกจากราชการ 5 รายรวม 14 ราย ทั้งนี้ยอดรวมตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน ไล่ออกจำนวน 178 ราย ปลดออกจากราชการ 51 รายรวม 229 ราย 

และในที่ประชุม ก.ตร.มีการรายงานการเลือกตั้งก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ใน 2 ส่วนคือการคัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับชั้นพลตำรวจโทขึ้นไป และ จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 มีนาคม 2566 โดยข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณ เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับที่ได้ปฎิบัติหน้าที่ในช่วงประชุมเอเปค จนประสบความสำเร็จและ ได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง 

ส่วนสถานการณ์ภาคใต้นายกฯ เป็นห่วงกำลังพลให้ระมัดระวังที่พักและที่ทำการโดยต้องตื่นตัวและปรับวิธีการปฏิบัติให้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส เหตุคาร์บอมบ์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว ขอให้ดูแลผู้บาดเจ็บด้านสวัสดิการต่างๆอย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่ พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 ยื่นฟ้องคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ก.ตร.พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับชั้นนายพลวาระ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น 

ต่อมาศาลได้สั่งเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้แม้ศาลปกครองได้ยกฟ้อง ก.ตร.ในการดำเนินคดีดังกล่าว แต่ก็ยังมีเนื้อหาข้อเท็จจริงบางประเด็นที่สมควรจะเสนอข้อเท็จจริงให้ถูกต้องเพื่อให้ศาลพิจารณา จึงจำเป็นต้องอุทธรณ์ โดยมอบหมายให้เลขาฯก.ตร.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยยืนยันว่า ก.ตร.ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน