ไม่พบผลการค้นหา
โซเซียลแห่แชร์ป้ายสะพาน ‘พิบูลสงคราม’ ใกล้รัฐสภา บริเวณแยกเกียกกายชื่อเป็นสะพาน ‘ท่าราบ’ ลือคือชื่อ ‘นามสกุล’ นายทหารแกนนำ ‘กบฏบวรเดช’ ปี 2476 ที่พยายามยึดอำนาจ ‘รัฐบาลคณะราษฎร’

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 เฟซบุ๊ก ‘Kaweewut Sukprasert’ เผยแพร่ภาพสะพาน ‘พิบูลสงคราม พ.ศ. 2514’ ใกล้รัฐสภา บริเวณแยกเกียกกาย เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ท่าราบ พ.ศ. 2565’  

สะพานพิบูลสงคราม29_4086776469109024146_n.jpeg

ภาพจาก Kaweewut Sukprasert

พร้อมระบุข้อความ 

…”สะพานพิบูลสงคราม” แถวเกียกกายเพิ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สะพานท่าราบ” แล้วทำไมต้องเป็น “ท่าราบ”?

…“ท่าราบ” เป็นนามสกุลของพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้เป็นนายทหารคนสำคัญของฝ่ายกบฎที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เขาถูกยิงเสียชีวิตโดยกองทัพฝ่ายรัฐบาลที่จังหวัดสระบุรี

…นี่คือความพยายามอีกครั้งในการ “ลบ” ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร…

ขณะเดียวกัน ‘สำนักข่าวประชาไท’ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเวลาตี 1.50 น. ของวันที่ 2 ก.ค. 2565 พบป้ายชื่อสะพานมีการเปลี่ยนแปลงจริง 

รายงานข่าวยังระบุว่าคำว่า 'ท่าราบ' นั้น พ้องกับนามสกุลของ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ‘ดิ่น ท่าราบ’ แกนนำกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476 ที่พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร พระยาศรีสิทธิสงคราม และยังเป็นพ่อของ อัมโภชน์ ท่าราบ มารดา ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี

ในขณะเดียวกัน 'พิบูลสงคราม' คือนามสกุลของ จอมพล 'แปลก พิบูลสงคราม' หรือรู้จักกันในชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงครามหัวหน้าสมาชิก 'คณะราษฎรสายทหารบก' ผู้มีบทบาทในวางแผนและวางกำลังทหารในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในปี 2476 ฝ่ายอำนาจเก่านำโดย 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช' พยายามก่อกบฎล้มล้างการปกครองของรัฐบาลคณะราษฎร จอมพล ป. จึงเป็นผู้นำทหารปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 จนสำเร็จ