ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เป็นประธานลงนามสัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีน วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ชี้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางคมนาคม รฟท.เผยระยะที่ 1 มี 14 สัญญา ล่าสุดก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คาดเปิดให้บริการปี 2568

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา)

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ว่านายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือฯ นี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค และเส้นทางนี้เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

S__4161648.jpg

การลงนามนี้เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีระหว่างกัน เชื่อมั่นว่าไทยจะนำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศ และภูมิภาคต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และบริษัทคู่สัญญาของโครงการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ที่ล้วนเป็น 'กำลังสำคัญ' ในการผลักดันโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เปรียบดังคำกล่าวที่ว่า “ถง ซิน เสีย ลี่, ซื่อ ซื่อ ซุ่น ลี่” หมายความว่า “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”

เดินหน้าโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนีี้ การลงนามในสัญญาดังกล่าว เป็นสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา ๒.๓) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดย Mr. Gao Feng (เกา เฟิง) ซึ่งเป็นกิจการค้าร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น โดย Mr. Ma Shengshuang (หม่า เซิ่งซวง) (THE CONSORTIUM OF CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. AND CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) โดยมีอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหาร บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) ผู้บริหาร บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐวิสาหกิจของจีน

ไทย-จีน ลงนามสัญญา 2.3 รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟไทย-จีน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงนามในวันนี้ (28 ต.ค.) เป็นการลงนามในสัญญา 2.3 เป็นลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งมีขอบเขตงาน ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง (สามารถทำความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง) งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี สัญญา 2.3 มีวงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท 

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร – หนองคาย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีสถานีรถไฟความเร็วสูง 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร

โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา

  • ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา โดยกรมทางหลวง (สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา (สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก โดยมีความคืบหน้า 42%)
  • อยู่ระหว่างเตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้างจำนวน 9 สัญญา (สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก – ลำตะคอง   สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า – ลำตะคอง สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง – สีคิ้วและกุดจิก – โคกกรวด สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด – นครราชสีมา สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร – บ้านโพ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว – สระบุรี สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย)
  • อยู่ในขั้นตอนการประกาศผลการประกวดราคา 2 สัญญา (สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย–กลางดง และปางอโศก–บันไดม้า สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย) 
  • อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาอีก 1 สัญญา (สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง) โดยฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมดและดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) โดยเริ่มงานตั้งแต่ ก.ย. 2560 และออกแบบแล้วเสร็จ (สัญญา 2.1) ฝ่ายจีนเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา (Construction Supervision Consultant ) (สัญญา 2.2)  และดำเนินการงานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุงที่ลงนามสัญญา 2.3 ในวันนี้ (28 ต.ค.)

ทั้งนี้ โครงการช่วงที่ 1 ได้เสนอขอความเห็นชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แบ่งเป็น  ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560 ช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมา ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 และผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน และหลังจากที่ก่อสร้างทั้ง 2 ระยะแล้วเสร็จ ก็จะเป็นการเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงไทย จีน และเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: