พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด มีอำนาจเต็มที่จะทำอย่างไรให้ไม่มีการระบาดในพื้นที่ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เป็นอำนาจที่ทำได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขอคำปรึกษาจากรัฐบาล เพราะได้มอบอำนาจให้ไปแล้ว ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประกอบไปด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในจังหวัด
ส่วนการประกาศจะไม่เป็นไปตามส่วนกลางหรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์ย้ำว่า จะอนุญาตให้ทำได้ตามความเหมาะสม ขณะที่มาตรการที่จะเป็นกรอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีการประชุมมอบหมายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ความหมายของการปิดเมือง ประกอบด้วย 2 วิธีการคือ 1.Social Distancing คือการงดกิจกรรมให้คนมารวมตัวกัน เพราะคนที่ป่วยจะแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆได้ และ 2. ลด Mobility ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายคน หรือ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับเมืองที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะหากประชาชนไม่เดินทาง ก็จะสามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดได้
แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องลดการเคลื่อนย้ายคนจะกระทบกับอาชีพ และการขนส่ง จะต้องออกแบบให้ดี เพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะแต่ละพื้นที่จะมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน แต่ในกรอบใหญ่ยังเหมือนกันทุกจังหวัด ที่จำเป็นต้องมีมาตราการรองรับหลังปิดเมือง
ส่วนตัวเห็นว่าการปิดเมืองเป็นคุณประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่ความลั่กลั่น เเต่ละแห่งมีสถานการณ์ไม่เหมือนกัน อย่าคาดหวังให้เหมือนกัน แต่กรอบใหญ่ยังเหมือนกันทุกจังหวัด ซึ่งวันนี้คณะรัฐมนตรีจะมีการประชุมและมอบกรอบการทำงานให้กับคณะกรรมการทุกจังหวัด เช่น เทศกาลต่างๆ อาจจะต้องกำหนดว่าจะรวมตัวกันได้ไม่เกินกี่คน หรือสถานประการอื่นๆ อาจต้องห้ามจัดกิจกรรม ส่วนกรณีการปิดสถานบันเทิงขอหารือก่อน ขณะนี้ยังไม่ขอเปิดเผยว่าจะเป็นที่ใดบ้าง ซึ่งเป็นการสั่งการในพื้นที่คาดว่าวันนี้กรอบแนวทางปฏิบัติจะมีความชัดเจน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าดีใจคือทุกคนพร้อมที่จะปิดเมือง และปิดกิจกรรมรวมกลุ่ม ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นผลดี ซึ่งส่วนตัวคาดการณ์ว่าหากดำเนินการตามข้างต้นได้ 14 วันจะสามารถบล็อกพื้นที่ได้
ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญคือให้คนเข้าใจเรื่อง Social distancing ที่ไม่ให้คนมารวมกันอย่างที่นักข่าวรุมสัมภาษณ์ตนอยู่ขณะนี้ เพราะถ้าตนติดเชื้อขึ้นมาจะยุ่ง เพราะไม่ได้ใส่หน้ากาก
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่าการผลิตหน้ากากผ้าทางเลือกขณะนี้ งบประมานถึงองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว ซึ่งบางพื้นที่เริ่มผลิตหน้ากากแล้ว โดยยอดรวมการผลิตวันนี้อยู่ที่ 5 ล้านชิ้น และเชื่อว่าหลังจากนี้จะผลิตได้กว่าล้านชิ้นต่อวัน เพราะท้องถิ่นเป็นฐานการผลิตใหญ่ เป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้ใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง