พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สนค. กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนต.ค. 67 โดยการส่งออก มีมูลค่า 27,222 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดโต 5.1-6.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 28,016 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.9% ส่งผลให้ในเดือนต.ค.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 794.4 ล้านดอลลาร์
ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่ารวม 250,398 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.9% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 257,149 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.6% โดยภาพรวมไทยยังคงขาดดุลการค้าที่ 6,751 ล้านดอลลาร์
สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกของไทยในเดือนต.ค.นี้ มาจากการเติบโตของการค้าโลกในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตให้เติบโตได้ดี, การบริโภคของประเทศคู่ค้าหลักเติบโต และการสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบเข้าสู่คลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรม และการสั่งซื้อสินค้าทุน เพื่อรองรับกำลังการผลิต
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ CLMV สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 16.3 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 25.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 22.1 และ CLMV ร้อยละ 27.9 กลับมาขยายตัวในตลาดจีน ร้อยละ 8.5 ญี่ปุ่น ร้อยละ 7.0 และอาเซียน (5) ร้อยละ 6.8
(2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 12.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 1.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 31.5 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 58.1 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 3.0 ในตลาดขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลีย และแอฟริกา หดตัวร้อยละ 14.0 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ
(3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 118.9
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 25.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 13.8
ตลาดจีน กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.8
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 7.0 (กลับมาขยายตัวในรอบ 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.9
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 22.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญ ที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.3
ตลาดอาเซียน (5) กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.4
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 27.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผ้าผืน เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 11.0
ตลาดเอเชียใต้ กลับมาขยายตัวร้อยละ 12.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.5
ตลาดทวีปออสเตรเลีย กลับมาหดตัวร้อยละ 14.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.1
ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 1.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.2
ตลาดแอฟริกา หดตัวร้อยละ 3.1 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายใน และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.5
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 31.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.8
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 58.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์คาดว่า แนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ มีลุ้นโตได้ถึง 4% เกินเป้าที่ตั้งไว้ คิดเป็นมูลค่าแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์