วันที่ 29 เม.ย. 2565 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กล่าวในงานเสวนา 'ทางออกของประชาชน พรรคการเมือง ประเทศไทย' จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 โดยระบุว่า เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีในการเข้าประชุมกับผู้นำอาเซียน 12-13 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ตลอด 8 ปี รัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย ทั้งในภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
กระบวนการค้าโลกกำลังเดินทางสู่จุดหักเหในระดับใหญ่ โดยแยกเป็น 2 ฝ่าย นำโดยสหรัฐอเมริกาและจีน ฝั่งที่นำโดยสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะอาศัยข้อตกลงระหว่างประเทศมาเอาชนะสงครามการค้า ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อนำอิทธิพลของประเทศในคาบสมุทรอินเดียมาคานอำนาจกับจีน เอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ได้เปลี่ยนแปลงไปในยุคของ โจ ไบเดน จนมีลักษณะของความมั่นคงและการทหารเข้ามา นำมาสู่ข้อกังวลของหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน เพราะองค์กรนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) แห่งที่ 2 จุดนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์ พลาดท่า และอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา
ธีระชัย ได้หยิบยกตัวอย่างของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกามาโดยดี และทรงวางดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ไว้อย่างลึกซึ้งด้วย แต่ทั้งหมดได้ถูกรื้อถอน เมื่อ 17 พ.ย. 2562 หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศเพื่อร่วมต่อต้านศัตรู ซึ่งไม่ใช่ นาโต ซึ่งนับว่าเกินเลยไปกว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมของ 2 ประเทศ
การประชุมลักษณะนี้ หากไม่ระวัง จะยิ่งไปสุมไฟความขัดแย้งระหว่างจีนยิ่งขึ้น จึงขอเสนอว่า นายกฯ ควรจะมีการแถลงข่าวหลังการประชุมที่สหรัฐอเมริกา หรือในประเทศไทย หากไม่ได้เดินทางไปด้วยตนเอง เพื่อแสดงท่าทีของประเทศไทยให้ชัดเจน และอาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ในประเด็นต่างๆ อาทิ
ธีระชัย ย้ำว่า ไทยมีความยินดีต่อข้อเสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก แต่เห็นว่าควรเปิดกว้าง ไม่ควรตัดประเทศใดนอกเหนือจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ออกไป หรือตั้งป้อมต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ควรเป็นข้อตกลงเชิงบวก ส่งเสริมการค้าและการลงทุน เพิ่มเสรีทางการค้า แต่ไม่ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองโดยรวมของประเทศไทย รวมถึงวิเคราะห์ทิศทางของแต่ละพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญโดยระบุว่า า เสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แม้จะพยายามหาทางหนีทีไล่โดยการตั้งพรรคสำรองไว้ แต่ก็ประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากองค์ครักษ์ประจำกายของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้รับโทษถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามกันไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชะตากรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะถึงนั้น ดูไม่ค่อยมีความหวัง
ด้าน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญที่มีการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยชี้ว่าหากไม่มีการสืบทอดอำนาจมาถึงทุกวันนี้ ปัญหาบ้านเมืองก็คงไม่บานปลาย รวมถึงยังบอกว่าไม่เคยมียุคไหนที่ทำให้การเมืองไปขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวอย่างชัดเจน ก่อนจะย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือต้นตอของปัญหา
ปริญญา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกกับคนไทยทั้งประเทศว่า 'ขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้ทุกคน' สุดท้ายกลับสืบทอดอำนาจต่อด้วยเสียง สว. ที่โหวตเลือกเข้ามา และมีการแก้ไขทำให้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีได้เลย
นอกจากนี้ ปริญญา ยังพูดถึงการนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่ยังคงเป็นคำถามว่าจะนับตั้งแต่เมื่อไหร่แน่ นับจากปี 2557, 2560 หรือปี 2562 ปริญญา ได้ยกข้อกฎหมายและเทียบเคียงกับกรณีการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญคนก่อน พร้อมยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะหมดวาระหลังวันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่งเชื่อว่าจะมีบรรดา ส.ส.เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอน
ปริญญา ยังย้ำว่าหาก ส.ส.ไม่ยื่นตีความ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สามารถยื่นตรงยังศาลได้เช่นกัน หากต้องการให้เรื่องทุกอย่างเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และยุติธรรม โดยเมื่อศาลรับเรื่องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
"ขอให้ท่านมองถึงภาพรวมของประเทศ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็มาจากท่านเอง และขอการเลือกตั้งครั้งหน้า ขอไม่เอา ส.ว. มาเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกหรือไม่" ปริญญา กล่าว