ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.กฎหมาย ทวงถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังส่งหนังสือที่พิจารณาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไปแล้วไม่ตอบกลับ ย้ำ 27 พ.ค. เชิญ 'ผบ.ทบ.' เคลียร์ปม 'ทหาร' แฉทุจริตในกองทัพ

นายสิระ เจนจาคะ รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และนายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการ แถลงผลการดำเนินงานของ กมธ. ในระยะเวลา 1 ปี แบ่งออกเป็น 4 เรื่องได้แก่

1.เรื่องที่รับร้องเรียนและพิจารณาแล้ว 26 เรื่อง

2. รายการที่ศึกษา แล้วส่งไปให้รัฐบาลแล้ว 3 เรื่อง คือการไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ, ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และหัวหน้า คสช. การจำกัดเสรีภาพและการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร, และการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดิน

3. งานศึกษาดูงานภายในประเทศ 4 ครั้ง

4.ต้อนรับคณะบุคคล 4 ครั้ง

ทั้งนี้นายรังสิมันต์ กล่าวว่า รายงานศึกษาของ กมธ. ที่ส่งไปให้รัฐบาลเมื่อนานมาแล้ว 3 ฉบับ ทวงถามรัฐบาลว่ามีความคืบหน้าอย่างไร จะได้รับการพิจารณาแก้ไขหรือไม่ ส่วนเรื่องปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่เสร็จไปแล้ว 26 เรื่อง ส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งหนังสือกลับมาว่าแก้ปัญหากันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม กมธ. มีอำนาจในการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาศึกษา แต่ไม่มีอำนาจสั่งการหน่วยงาน ทำให้มีหน่วยงานจำนวนน้อยมากที่ตอบรับกลับมา ดังนั้นในวันพุธที่ 27 พ.ค. นี้ กมธ. จะทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้รายงานความคืบหน้ากลับมา แต่หากไม่ได้รับหนังสือตอบกลับ ก็อาจจะพิจารณาทำหนังสือไปยังสภาผู้แทนราษฎร และส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นๆ ชี้แจงปรับปรุง 

ขณะเดียวกัน นายสิระ ถามไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หากผู้แทนราษฎรหารือแล้วลงมติแล้ว แต่หน่วยงานไม่ตอบกลับ แล้วจะมีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนไปทำไมนอกจากนี้ กมธ. ยังมีความคืบหน้า การศึกษา ร่าง พ.ร.บ.วิธิพิจารณาความอาญาเพื่อให้อำนาจอัยการร่วมในการสอบสวนและหาพยาน นำเข้ากรรมาธิการ ถ้าเห็นชอบจะส่งไปยังที่ประชุม ส.ส. และ ครม. ต่อไปเพื่อนำมาสู่การแก้ไขกฎหมาย หรือขอความร่วมมือจากพรรคการเมืองเพื่อให้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

ส่วนในวันพุธนี้ (27พ.ค.) กมธ. ได้เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มาชี้แจง กรณีนายทหารชั้นผู้น้อยถูกโกงเบี้ยเลี้ยง และติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปกองทัพและความเดือดร้อนที่พี่น้องทหารยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมายืนยัน

อ่านเพิ่มเติม