ไม่พบผลการค้นหา
ครม.ไฟเขียวงบฯ 751 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาศึกษา-ออกแบบ โครงการรถไฟไทย-จีนเฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. ส่วนเฟสแรกคาดเปิดเดินรถปี 2566

พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (2 ก.ค.) มีมติอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 751.62 ล้านบาท เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาค (รถไฟไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 355 กม.

ตามที่กระทรวงคมนาคมรายงาน ครม.ว่า ไทยและจีนได้มีความร่วมมือกันการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาคโดยเป็นความร่วมมือระหว่างปี 2558-2565 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 26 ร่วมกันระหว่างคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้หารือเรื่องการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา และทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการของโครงการร่วมกันในระยะต่อไป

โดยมีกรอบการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาคระยะที่ 2 ใช้ระยะเวลา 19 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 จนถึงขั้นตอนการสำรวจอสังหาริมทรัพย์หลังออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่เดือน ม.ค. 2564 โดยให้รฟท. ไปดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาแบ่งเป็นงบกลางฯปี 2561 ที่กันไว้เบิกจ่ายในปี 2562 วงเงิน 112.24 ล้านบาท 

ส่วนที่เหลือวงเงิน 638.88 ล้านบาท ให้ ร.ฟ.ท.ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 ตามแผนการเบิกจ่ายต่อไป โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณประจำปี

สำหรับรายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาในโครงการนี้ประกอบไปด้วย 

1. ค่าตอบแทนบุคลากร 506.92 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากรหลัก 420.18 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรสนับสนุน 86.74 ล้านบาท 

2. ค่าใช้จ่ายตรง แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในสำนักงาน 33.71 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายงานสำรวจ ทดสอบ และค่าใช้จ่ายตรงอื่นๆ 161.81 ล้านบาท 

3. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 49.1 ล้านบาท

ร.ฟ.ท. เตรียมทำ TOR คัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบ ใช้เวลา 1 ปี 7 เดือน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบ โดยจะมีระยะเวลาดำเนินการ 19 เดือน ซึ่งที่ปรึกษามีหน้าที่ออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน, จัดทำทีโออาร์ และดำเนินการประกวดราคาหาผู้ก่อสร้างงานโ��ธา, ศึกษางานระบบ O&M ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เพื่อให้เชื่อมกับโครงการระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และการเชื่อมโยงจากหนองคาย-เวียงจันทน์ 

การออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะแบ่งเป็น 2-3 ช่วงใหญ่ๆ โดยคาดว่าหลังจากเซ็นจ้างที่ปรึกษา ภายใน 6 เดือนจะออกแบบรายละเอียดช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่นเสร็จและเปิดประมูลก่อสร้างได้ ไม่รอให้ออกแบบเสร็จทั้ง 355 กม.ก่อนค่อยประมูล ส่วนการประมูลจะมีกี่สัญญานั้นจะมีการพิจารณา โดยจะต้องดูสภาพภูมิประเทศ และความเหมาะสมทางกายภาพด้วย

สำหรับค่าลงทุนรถไฟไทย-จีน ระยะ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะสรุปรายงานผลการศึกษาเสนอ ครม.ขออนุมัติต่อไป ซึ่งมีตัวเลขค่าก่อสร้างระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. เป็นต้นแบบ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 14 สัญญา ขณะนี้ประมูลไปแล้ว 7 สัญญา ผลประมูลได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่อีก 7 สัญญาที่เหลืออยู่ในขั้นตอนประมูล โดยภายในเดือน ก.ค.จะเปิดประมูลได้ 6 สัญญา ส่วนอีก 1 สัญญา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เหลือการเจรจากับผู้ประกอบการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากใช้พื้นที่เขตทางร่วม 

ส่วนสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรอบวงเงินแล้วที่ 50,633.50 ล้านบาท อัยการสูงสุดอยู่ระหว่างพิจารณาร่างสัญญา หากมีความเห็นเพิ่มเติม ทาง ร.ฟ.ท.จะไปเจรจากับจีน เพิ่มเติม ซึ่งประเด็นข้อสังเกตของอัยการไม่ได้เป็นสาระสำคัญ แต่เป็นความรอบคอบเพื่อทำร่างสัญญา 

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังเป็นไปตามแผน โดยจะแล้วเสร็จในปี 2565 และเปิดเดินรถได้ในปี 2566

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :