วันที่ 14 ก.ย. ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ตามที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพร้อมกันนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า อาจจะมีความเสี่ยงเกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ในการกำกับดูแลการทำงานของกระทรวงการคลังได้ จึงขอกราบเรียนข้อมูลมาดังนี้
ก่อนหน้ารัฐสภาลงคะแนนเลือกท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีกรณีที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แสดงข้อสงสัยในที่สาธารณะ ว่าท่านอาจเกี่ยวข้องพัวพันกับการดำเนินการบางประการในบริษัทจดทะเบียนที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย อันอาจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานในกระทรวงการคลังเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้น การที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมทำให้เกิดความเคลือบแคลงในสายตาของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความโปร่งใสตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
ปรากฏว่าในวันที่ 13 กันยายน 2566 ท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 2106/2566 เรื่อง การมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำสั่งดังกล่าวมอบให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการสั่งการการอนุญาต การอนุมัติ การกำกับดูแล และการปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรี
สำหรับงานของกรมสรรพากร ในขณะที่คำสั่งนี้ไม่ได้มอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้ใดปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการสำหรับงานของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่านจึงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการสำหรับสามหน่วยงานนี้โดยตรง
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย่อมได้รับทราบจากสื่อสาธารณะ รวมทั้งอาจจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายชูวิทย์ด้วยแล้ว
ทั้งสององค์กรจึงจะต้องทำการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับตัวท่าน ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบบางส่วนอาจจะต้องมีการสอบทานเส้นทางการโอนเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้ปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ที่ร้องเรียนต่อกรมสรรพากร ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการบางประการในหรือที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทจดทะเบียน ที่อาจเข้าข่ายเป็นการสมคบคิดกันเพื่อเลี่ยงกฎหมายภาษีอากร ซึ่งมีการพาดพิงถึงตัวท่าน
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าตัวเองมิได้สงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตของตัวท่าน แต่ท่ามกลางข้อสงสัยและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับตัวท่านนั้น การที่ท่านควบคุมหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ เรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการของท่านในอดีตได้แบบรวมศูนย์ โดยกรณีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีอำนาจในการสั่งการกรมสรรพากรก็เป็นบุคคลในพรรคการเมืองเดียวกับท่าน จึงย่อมไม่สามารถขจัดความเคลือบแคลงในประชาชนว่าท่านอาจจะมีอิทธิพลต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวท่านได้โดยทางตรงหรือทางอ้อม
ข้าพเจ้าจึงมีข้อแนะนำว่า มีความเสี่ยงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจมีการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2561 หมวด 9 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ประกอบมาตรา 160(5) ซึ่งบัญญัติว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อประกอบการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป