อย่างตัวผู้เขียนเอง อาการที่ว่าเกิดกับศิลปินผู้ล่วงลับอย่าง 'เดวิด โบวี' หรือ 'จงฮยอน' วง SHINee อีกประเภทคือวงดนตรีที่ยุบแยกสลายแล้วหายเงียบไปกับสายลม ในยุคที่ดารานักร้องล้วนมีโซเชียลมีเดียกันแทบทุกคน ศิลปินคนไหนที่เราตามรอยทางโลกไซเบอร์ไม่ได้นี่ทำใจได้เลยว่า เขาได้หันหลังกับวงการบันเทิงแล้ว
หรืออีกแบบคือความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ว่าจะกลับมารวมตัวกัน เช่น วง Sonic Youth ที่วงแตกหลังจากสองสามีภรรยา 'เทิร์สตัน มัวร์' กับ 'คิม กอร์ดอน' เลิกรากัน หรือ Supercar วงอินดี้ร็อคหลังจากแยกย้ายกันไป มือกลองก็หายสาบสูญจากวงการ ทำให้การรียูเนียนมีโอกาสเกิดขึ้นยาก
อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี 2019 แฟนเพลงญี่ปุ่นต้องแตกตื่นกับข่าวใหญ่ประจำปี เมื่อ Number Girl ประกาศรวมตัวกันอีกครั้ง และนี่เป็นกลับมาในรอบ 17 ปี! (มันฮาตรงที่นักร้องนำให้สัมภาษณ์ว่าเกิดความคิดเรื่องรวมวงตอนกินเหล้าเมา ส่วนอีกเหตุผลคืออยากได้ตังค์)
หากจะกล่าวถึงวงดนตรีที่ถือเป็นหลักไมล์สำคัญในช่วงยุคปลาย 1990 ถึงต้น 2000 จะต้องมี Number Girl ติดอยู่ในลิสต์ด้วยแน่นอน
จุดเด่นของวงนี้คือการทำเพลงร็อคดุเดือด มีท่วงทำนองในแบบ noise rock ที่เน้นการสร้างเสียงสะเทือนเลือนลั่น จนทำให้วงได้ฉายาว่าเป็น Sonic Youth ของเกาะญี่ปุ่น แม้จะมีอายุวงสั้นๆ เพียงเจ็ดปีในช่วง 1995-2002 และมีผลงานออกมาแค่สี่อัลบั้ม แต่ Number Girl กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อวงดนตรีรุ่นหลังมากมาย อาทิ Base Ball Bear, Asian Kung-Fu Generation, tricot และ Kinoko Teikoku
I don’t know หนึ่งในเพลงดังของ Number Girl ประกอบหนังเรื่อง Harmful Insect (2002) นำแสดงโดย อาโออิ มิยาซากิ
หลังจากรวมวงแล้ว Number Girl ยังประกาศต่ออีกว่าจะจัดคอนเสิร์ตเพียงแค่ 4 รอบตามเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากดูโชว์นี้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าระบบขายบัตรในญี่ปุ่นนั้นใช้ ‘การสุ่มตั๋ว’ ผู้เขียนเองก็ลองของลองสุ่มบัตรไปสองรอบ ผลคือนกเรียบตามระเบียบ
ขณะที่กำลังอับจนหนทางและปลงว่าชาตินี้คงไม่ได้ดูวงนี้ ผู้เขียนก็ใช้วิธีแบบบ้านๆ ด้วยการอีเมลไปหาทางวงว่าช่วยทำเว็บไซต์ขายบัตรสำหรับชาวต่างชาติหน่อยเถอะ (การขายบัตรของญี่ปุ่น เว็บจะเป็นภาษาญี่ปุ่น และหลายงานรับเฉพาะบัตรเครดิตญี่ปุ่น)
อันที่จริงไม่คิดหรอกว่าวงจะตอบ แต่ผ่านไปสองสัปดาห์อยู่ดีๆ ก็มีเมลจากทางวงเป็นภาษาอังกฤษไวยากรณ์สวยงาม สรุปความได้ว่าจะรับไว้พิจารณานะ และเดือนถัดมาวงก็เปิดเว็บพิเศษที่ขายบัตรกับคนอยู่ที่นอกประเทศญี่ปุ่น (เป็นภาษาอังกฤษและรับบัตรเครดิตต่างชาติ) จนในที่สุดผู้เขียนก็ซื้อบัตรของวง Number Girl มาได้ น้ำตาแทบไหลพราก
ผู้เขียนเลือกไปดูโชว์ของ Number Girl ที่เมืองโอซาก้าเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานที่จัดงานเป็นไลฟ์เฮ้าส์ชื่อว่า Namba Hatch เคยมีโอกาสดูคอนเสิร์ตของวง Tame Imlapa ที่นี่แล้วประทับใจมาก นอกจากระบบเสียงจะดีสุดๆ แล้ว ตัวฮอลล์ยังค่อนข้างกว้าง ไม่ต้องยืนเบียดกันมากนัก
สมาชิกทั้งสี่ของ Number Girl ปรากฏตัวบนเวทีเลทไปจากเวลาโชว์ไม่นาน ก่อนมาดูอดห่วงไม่ได้ว่าวงจะยังแสดงสดได้เดือด เลือดพล่านหรือเปล่า ช่วงที่วงอยู่ในยุครุ่งเรืองพวกเขาอายุแค่ยี่สิบปลาย แต่ตอนนี้ทุกคนจะเข้าเลขห้ากันแล้ว
ทว่าเพียงเริ่มเล่นไปราวสามเพลง ความกังวลและคำสบประมาทใดๆ ก็ตกไปทันที Number Girl ยังคงมีพลังล้นเหลือ ฝั่งผู้ชมก็ดูจะสนุกไปด้วยจนพากันขยับตัวกันทั้งงาน (ผิดวิสัยของคนญี่ปุ่นที่ปกติมักยืนดูคอนเสิร์ตกันนิ่งๆ)
ตลอดงานสองชั่วโมงกับ 24 เพลง ความรู้สึกหลักที่สัมผัสได้คือการที่อารมณ์ของโชว์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ไม่มีอะไรมาหยุดได้อีกต่อไป ทั้งกีต้าร์ เบส กลอง ต่างร่วมใจกันซัดกระหน่ำ จะมีที่ติดบ้างคือเสียงของ ชูโตคุ มุไค นักร้องนำ ที่อาจจะดร็อปลงไปเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ถึงกระนั้นเพลงของ Number Girl หลายเพลงต้องมีการตะโกนแหกปาก การที่ชายวัย 46 ยังอุตส่าห์มาร้องเพลงโวยวายให้เราฟังก็ถือเป็นเรื่องน่านับถือทีเดียว
ล่าสุด Number Girl เพิ่งประกาศทัวร์ในช่วงปลายปี 2019 จนถึงต้นปี 2020 อีก 12 รอบ แต่ยังไม่มีข่าวว่าทางวงจะมีผลงานใหม่ออกมาหรือไม่ และการรวมวงครั้งนี้จะอยู่ยืดยาวไปถึงเมื่อไร แต่ไม่ว่าจะเอาแต่เล่นเพลงเก่าๆ ของตัวเอง หรือยุบวงอีกรอบหลังจากทัวร์เสร็จ ความเป็นตำนานของ Number Girl ก็คงไม่อาจลบเลือนไปได้