ไม่พบผลการค้นหา
หลายฝ่ายชี้ PPTV แพลตฟอร์มสตรีมมิงจีนเบี้ยวค่างวด 'พรีเมียร์ลีก' เป็นเหตุเทสัญญาฉายฟุตบอลทิ้ง อาจไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของ 'ปมขัดแย้ง' เท่านั้น ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายชี้ เบื้องหลังชนวนดังกล่าวคือการกลับลำของรัฐบาลอังกฤษ ในโครงการ 5จี กับหัวเว่ย

สงครามแย่งชิงการเป็นมหาอำนาจของจีนและสหรัฐฯ ไม่ได้สร้างผลกระทบแค่เพียงมิติการเมือง แต่ยังลามไปถึงฝั่งเอกชนโดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมากับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของแดนมังกร 

'หัวเว่ย' เผชิญหน้าทั้งกับกรณี 'เมิ่งหว่านโจว' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและลูกสาวผู้ก่อตั้ง ถูกจับกุมตัว ณ สนามบินแวนคูเวอร์ ของแคนาดา โดยสำนักงานกิจการชายแดนแคนาดา (ซีบีเอสเอ) ขณะล่าสุด 'ไบต์แดนซ์' บริษัทแม่ของ TikTok เจองานหินกับการทำธุรกิจในสหรัฐฯ ที่มี 'โดนัลด์ ทรัมป์' เป็นปรปักษ์ขัดการเติบโตอย่างชัดเจน 

ล่าสุด ผลกระทบมาตกในวงการที่หลายฝ่ายหาความเกี่ยวข้องแทบไม่เจออย่าง 'อุตสาหกรรมฟุตบอลอังกฤษ' หรือ 'พรีเมียร์ลีก' ที่กำลังมีประเด็นการฉีกสัญญามูลค่าประมาณ 550 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท กับแพลตฟอร์มสตรีมมิง PPTV ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานจากกลุ่มบริษัท Suning

แถลงการณ์จากพรีเมียร์ลีกกล่าวว่า "พรีเมียร์ลีกยืนยันว่าได้ยกเลิกข้อตกลงในการฉายพรีเมียร์ลีกในประเทศจีนตั้งแต่วันนี้กับผู้ได้รับใบอนุญาตในพื้นที่ดังกล่าว...และไม่ขอกล่าวถึงประเด็นเพิ่มเติม"

ฟุตบอล - พรีเมียร์ลีก - AFP

สัญญามูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ถูกยกเลิกนั้นเป็นสัญญาที่อนุญาตให้แพลตฟอร์มของจีนสามารถครอบคลุมการฉายการแข่งขันต่างๆ ของพรีเมียร์ลีกระหว่างฤดูกาล 2019-2022 ทั้งยังนับเป็นการเซ็นสัญญาฉายฟุตบอลของลีกอังกฤษกับต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุด

หลายฝ่ายรายงานว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่สัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกไปหลังผ่านไปแค่ฤดูกาลเดียว เป็นเพราะ PPTV ค้างจ่ายค่างวดมูลค่า 160 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6,600 ล้านบาท สำหรับฤดูกาล 2019/2020 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีคำสั่งหยุดการเตะฟุตบอลชั่วคราวเช่นเดียวกัน 


การเมืองเรื่องฟุตบอล 

ความเกี่ยวข้องที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องครั้งนี้ จุดชนวนให้หลายฝ่ายมองว่าสาเหตุที่ PPTV ไม่ยอมจ่ายค่างวดตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น มาจากเหตุการณ์ก่อนหน้าที่รัฐบาลอังกฤษกลับลำหันมาแบนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการสัญญาณ 5จี จากหัวเว่ย

ลุย เซี่ยวหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหราชอาณาจักรออกมาทวีตข้อความภายหลังจากประกาศของรัฐบาลสหราชอาณาจักรว่า "มันกลายเป็นเรื่องที่ต้องมาตั้งคำถามว่า สหราชอาณาจักรสามารถเปิดพื้นที่อย่างเป็นธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติในเชิงธุรกิจให้กับบริษัทจากต่างประเทศได้หรือไม่" 

ขณะที่ โอลิเวอร์ ดาวเด็น สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรจากพรรคอนุรักษนิยม ในฐานะเลขาธิการกระทรวงดิจิทัลและวัฒนธรรม ชี้แจงว่า ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของสหราชอาณาจักรเป็นเพราะศูนย์ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศมีการปรับประเมินความเสี่ยงใหม่ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแบนสินค้าจากหัวเว่ย 

โอลิเวอร์ กล่าวว่า "เมื่อมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ (การแบน) สายการผลิตของหัวเว่ย รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงไม่สามารถมั่นใจได้อีกต่อไปว่าจะสามารถการันตีความปลอดภัยจากอุปกรณ์ 5 จี ของหัวเว่ยได้" 

ปัญหาสำคัญที่จะตามมาต่อจากนี้ คงไปตกอยู่ที่เงินสนับสนุนของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกที่เคยได้รับจากสัญญาดังกล่าว มากกว่าความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลจีนและสหราชอาณาจักร เพราะที่ผ่านมา เงินส่วนแบ่งนี้ บริษัทสตรีมมิงจีนตกไปถึง 20 สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกเช่นเดียวกัน 

หากทิ้งปัจจัยการเมืองไว้ข้างหลัง ไซมอน แชดวิค อาจารย์จากภาควิชากีฬาในภูมิภาคยูเรเซีย ของโรงเรียนธุรกิจเอ็มลิยง (Emlyon) ชี้ว่า เม็ดเงินที่ PPTV เลือกไม่จ่ายให้กับพรีเมียร์ลีกเป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ลีกฟุตบอลอังกฤษไม่ได้มีการแข่งขันจากโควิด-19 จึงเป็นเรื่องไม่คุ้มทุนที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์แต่กลับไม่มีเนื้อหาหรือคอนเทนต์ให้ฉายทำกำไร 

ทว่าแม้แต่ไซมอน ก็ยังยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง ธุรกิจ และฟุตบอลเป็นเรื่องใกล้ชิดกันมา และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดูเหมือนจะมีสาเหตุมากกว่าภาวะโรคระบาดและการเงินอย่างแน่นอน 

ขณะที่ พอล วิดด็อป อาจารย์อาวุโสภาควิชาการพัฒนาในวงการกีฬาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิแทน เสริมว่า เมื่อย้อนกลับไปดูงบประมาณกลุ่มบริษัท Suning เจ้าของ PPTV ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังอยู่ในแดนดีมาตลอด ดังนั้นเงื่อนไขด้านความยากลำบากทางการเงินของบริษัทจะสามารถตัดทิ้งได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่แรงผลักให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาถึงจุดนี้เป็นเพราะเกมการเมือง 

อ้างอิง; CNBC, BBC, EN, FT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;