ไม่พบผลการค้นหา
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมงานรำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชน

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เดินทางมาร่วมพิธีรำลึก 50 ปี วีรชน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย พร้อมกล่าวสดุดีวีรชนสหพันธ์ชาวนาฯ และวางพวงมาลา เพื่อสดุดีความกล้าหาญในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม โดยภายในงาน มีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ นิทรรศการ หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี เพื่อรำลึกและทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ ถึงขบวนการต่อสู้ของสามัญชนที่สำคัญขบวนการหนึ่งของสังคมไทย ทั้งนี้ การจัดงานฯ มีขึ้นระหว่าง วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

004.png

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขอน้อมรำลึกถึงเกียรติศักดิ์และคุณงามความดีของวีรชน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จำนวน 30 รายที่สูญเสียชีวิต และต้องสูญหายจำนวน 6 คน 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “กิจกรรม 50 ปี สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2517 สำหรับผมวัตถุประสงค์ในการร่วมกิจกรรมมี 3 ประการ คือ 

1.น้อมรำลึกและสดุดีคุณงามความดีของผู้จากไปจำนวน 30 ชีวิต และผู้หายสาบสูญจำนวน 6 คน  ซึ่งในจำนวนนี้ทราบว่ามี 1 ท่าน เป็นคนจังหวัดอ่างทองบ้านเกิดของผม คือ คุณบุญมา สมประสิทธิ์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518 ทั้งนี้ขอร่วมไว้อาลัยและยกย่องในคุณความดีของวีรชนสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่จากไปทุกคนครับ 

2. ต้องการให้กำลังใจพี่น้องสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่มีชีวิตอยู่และยังมีอุดมการณ์ทำงานเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ชาวไร่ชาวนาต่อไป ซึ่งบางส่วนได้แยกขับเคลื่อนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) 

3. นำอดีตเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคตที่ต้องมุ่งสู่เป้าประสงค์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ คือ การให้สิทธิเสรีภาพแก่ชุมชนและประชาชนโดยทั่วหน้าอย่างเสมอภาค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำในฐานะบุคคล ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ มาตรา 78 ซึ่งรัฐพึงดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำ มาตรา 81 การให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์และสิทธิในที่ดิน เป็นต้น“

005.png

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัว ผมอยากให้นำ ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของชาวนาและบุคคลอื่นที่ทำงานในพื้นที่ชนบท (United Nations Declaration on the Rights of Peasants and Other People Working in Rural Areas : UNDROP) ที่ประเทศไทยได้ร่วมรับรองกับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 มาปรับใช้ ซึ่งมีทั้งหมด 28 ข้อ ครอบคลุมการรับรองสิทธิของเกษตรกร ทั้ง 14 ด้าน ได้แก่ 

1. สิทธิในความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ 

2. สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคง 

3. สิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

4. สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ 

5. สิทธิในอาหารและความมั่นคงทางอาหาร 

6. สิทธิในเมล็ดพันธุ์ 

7. สิทธิในงานที่มีคุณค่า และได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม 

8. สิทธิในสุขภาพ 

9. สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี 

10. สิทธิในมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 

11. สิทธิในการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 

12. เสรีภาพในการรวมกลุ่มและแสดงความคิดเห็น 

13. สิทธิสตรีและเด็ก 

14. สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม

“ในนามรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม ผมพร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และจะนำความยุติธรรมสู่ประชาชนบนหลักการหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งต่อไปครับ” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีการจัดเสวนา ในหัวข้อ: เหลียวหลังแลหน้า ภารกิจแห่งอนาคตของขบวนการประชาชน การต่อสู้ทางชนชั้น การเมืองมวลชน การเมืองรัฐสภา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ เครือข่ายเด็กเท่ากัน, เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย, สมัชชาคนจน, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สหภาพแรงงานบาริสต้า, เครือข่ายรัฐสวัสดิการ We Fair และ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ขณะที่ในช่วงบ่าย เป็นงานเสวนา ในหัวข้อ: ฉากทัศน์การเมืองไทย ฉากทัศน์สามัญชน 2570 จินตนาการสังคมไทยหลังรัฐบาลแพทองธาร