3 พ.ย.นี้ ชาวอเมริกันนับล้านจะใช้สิทธิตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ (หรือคนเดิม) ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีีสหรัฐฯ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ โจ ไบเดน แต่เมื่อกลับไปในการเลือกตั้งปี 2016 ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ ฮิลลารี คลินตัน “คืนวันเลือกตั้ง” ครั้งนั้นนับว่า หักปากกาเซียน การคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่เชื่อว่า ‘ฮิลลารี’ น่าจะเป็นผู้ครองเก้าอี้ทำเนียบขาว
อย่างไรก็ดี การขับเคี่ยวระหว่างโจ ไบเดน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ แม้ว่าผลโพลโค้งสุดท้ายในจากหลายสำนักจะไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘โจ ไบเดน’ มีคะแนนนำ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อยู่หลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่ “Swing State” ซึ่งเป็นมลรัฐฐานเสียงของทั้งสองพรรค แต่ในคืนวันเลือกตั้งก็อาจมีบางปัจจัยสร้าง 'เซอร์ไพรส์' ที่ทำให้ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้เหนือความคาดหมายได้เช่นกัน
‘วอยซ์ออนไลน์’ จะพาไปหาคำตอบในประเด็นที่ต้องจับตาในคืนการเลือกตั้ง จะรู้ได้ไงว่าใครชนะ? จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน? แล้วรัฐไหนจะชี้ชะตาทรัมป์-ไบเดน?
การขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้วัดกันที่ผลของคะแนนนิยมมากที่สุด (Popular Vote) แต่ผู้สมัครที่ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Voter ของรัฐต่างๆ รวมกันอย่างน้อย 270 เสียง จากจำนวนทั้งสิ้น 538 เสียง จึงเป็นผู้คว้าชัยชนะ
แต่ละมลรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน เพราะขึ้นกับจำนวนประชากรในรัฐนั้น โดยรัฐ Swing States ที่สำคัญๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น ฟลอริดา (29 เสียง) นอร์ท แคโรไลนา (15 เสียง) โอไฮโอ (18 เสียง) และเพนซิลเวเนีย (20 เสียง)
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนัก ทำปีนี้ให้ชาวอเมริกันใช้สิทธิลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ถึง 90 ล้านคน มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ผลโหวตทางไปรษณีย์จะนับพร้อมกันหลังปิดหีบเลือกตั้งทั่วประเทศแล้ว โดยบางมลรัฐอาจทราบผลการนับคะแนนล่าช้ากว่าปกติ
การลงคะแนนโหวตทางไปรษณีย์ที่จำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน อาจทำให้ผลการนับคะแนนในช่วงแรกหลังการปิดหีบ คะแนนของผู้สมัครบางรายอาจพุ่งนำจนน่าแปลกใจ
การเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ใช้สิทธิการลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ จึงเป็นการยากที่จะคาดเดาถึงผลการเลือกตั้งหลังภายการปิดหีบเพียงไม่กี่ชั่วโมง บางมลรัฐมีกฎที่แตกต่างกันสำหรับวีธีการและเวลาการนับบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งหมายอาจมี 'ช่องว่าง' ขนาดใหญ่ของการรายงานผลการนับคะแนน เช่น รัฐฟลอริดา และแอริโซนา จะเริ่มนับผลการเลือกตั้งหลายสัปดาห์ก่อนหน้าวันที่ 3 พ.ย. โดยจะเปิดเผยผลคะแนนหลังวันเลือกตั้ง ขณะที่รัฐอื่นๆ อย่าง วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย จะนับคะแนนในวันที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความเราอาจได้รู้ผลการนับคะแนนที่ช้ากว่าปกติ
การจะทราบผลคะแนนอย่างเป็นทางการในบางรัฐนั้นอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งยากจะคาดเดาผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า 'ทรัมป์' หรือ 'ไบเดน' จะเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปภายไม่กี่ชั่วโมงหลังปิดหีบ
หากผลการเลือกตั้งวันที่ 3 พ.ย. คลุมเครือหรือไม่มีความชัดเจน อาจต้องรอเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์หลังการเลือกตั้งเพื่อให้ผลการนับคะแนน 'สะเด็ดน้ำ' อย่างเป็นทางการ แต่หากไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน สิ่งที่จะตามมาคือความซับซ้อนในกระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมาย ศาลสูงสุดสหรัฐฯ อาจเข้ามามีส่วนในการพิจารณาผลการเลือกตั้ง โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้เสนอชื่อ เอมีย์ คอนนีย์ แบร์เร็ตต์ นักกฎหมายสายอนุรักษนิยม เป็นตุลาการศาลสูงคนใหม่ ซึ่งความสำเร็จในการตั้งแบร์เร็ตต์ครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองสหรัฐฯ รวมถึงอาจมีส่วนในการพิจารณาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย นับว่าทรัมป์และริพับลิกันมีแต้มต่อในหมากกระดานนี้สูงมาก
ทั้ง 50 มลรัฐ อาจมีเพียงไม่กี่รัฐสำคัญขนาดที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ เพราะเป็นรัฐที่เป็นทั้งฐานเสียงของทั้งริพับลิกันและเดโมแครต ต่างกับรัฐอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงชัดเจนว่า หนุนอนุรักษนิยมริพับลิกัน หรือเสรีนิยมที่สนับสนุนแดโมแครต
ช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างทุ่มเวลาในการหาเสียงมุ่งไปที่ 9 รัฐสำคัญเหล่านี้ ซึ่งคะแนนเสียงเพียงไม่กี่พันคะแนนอาจทำให้อีกฝ่ายคว้าชัยชนะและเสียงสนับสนุนจากคณะผู้เลือกตั้งได้ตามกฎ Winner Takes All
มลรัฐที่ทรัมป์เคยชนะในการเลือกตั้ง 2016 แต่ตอนนี้คะแนนนิยมตอนนี้เอนเอียงไปทางไบเดนมากกว่าคือ มิชิแกน (คณะผู้เลือกตั้ง 16 คน) วิสคอนซิน (10 คน) เพนซิลเวเนีย (20 คน) และ แอริโซนา (11 คน)
ส่วนมลรัฐที่ขณะนี้คะแนนนิยมของทั้งคู่ยังสูสี ซึ่งผลการเลือกตั้งอาจออกมาได้ทั้งสองแบบ คือ ไอโอวา (6 คน) โอไฮโอ (16 คน) นอร์ท แคโรไลนา (15 คน) จอร์เจีย (16 คน) และฟลอริดา (29 คน)