ไม่พบผลการค้นหา
สามตอนที่ผ่านมา ผมพาท่านไป “นิทัศน์” พรรคการเมืองต่างๆ วันนี้ ก็เช่นเคย แต่ลักษณะของพรรคการเมืองที่จะพาไปนิทัศน์ สัปดาห์นี้ ลักษณะจะออกเชิง “พรรคของกลุ่มการเมือง” ดังเช่น พรรคราษฎร ฉบับกลุ่มปากน้ำ นั่นกระไร เป็นอย่างไรก็ขอให้ไปอ่านกันได้ อย่าช้าที!
  • ชื่อ “พรรคราษฎร” โดนตั้งมาหลายที หลายหนเหลือเกิน ชื่อนี้ ปรากฎขึ้นครั้งแรก ในปี 2517 โดย ไถง สุวรรณทัต (แต่ไม่เกี่ยวกันนะ!) ก่อนที่จะก่อตั้งใหม่ ในปี 2529 และมีบทบาททางการเมืองจริงๆ เมื่อ พลเอก เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เรื่อยมาจนการเลือกตั้ง 2538 พรรคไม่ได้ส่งผู้สมัคร เลยถูกยุบไปตามระเบียบในขณะนั้น
  • ชื่อนี้ถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง ในปี 2541 (ซึ่งไม่เกี่ยวกันอีก!) จากกรณี “กลุ่มงูเห่า” นำโดย วัฒนา อัศวเหม ที่นำ ส.ส. หลายๆ คน เข้าร่วมพรรค อาทิ ประกอบ สังข์โต, ฉลอง เรี่ยวแรง, สุชาติ บรรดาศักดิ์, พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์, มั่น พัธโนทัย ก่อนที่จะแปรสภาพเป็น พรรคมหาชน แต่ปี 2552 ก็ก่อตั้ง พรรคราษฎร อีกหน โดยมั่น พัธโนทัย ก่อนที่จะกลายเป็น พรรคมาตุภูมิ ที่ได้ไปเชิญ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรค

พูดถึง “วัฒนา”

กิมเอี่ยม แซ่เบ๊ ชื่อนี้ พูดไปคนอาจจะสงสัย แต่ถ้าพูดชื่อ วัฒนา อัศวเหม เมื่อไร คอการเมือง (หรือแม้มิใช่คอการเมือง) ก็คงต้องคุ้นหู เพตุเพราะเป็น พ่อแท้ๆ ของ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตสามีของ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ดารานักแสดง

แต่...เราไม่ได้พูดถึงคนนั้น

เราพูดถึง พ่อเขาต่างหากเล่า

วัฒนา อัศวเหม เริ่มต้นชีวิตจากการค้าขาย มาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ และสิ่งที่สำคัญคือ วัฒนา นิยมในตัว “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” อย่างมาก ถึงขั้นที่ว่า “ท่านจอมพล” ไปออกงานที่ไหน ก็คงได้เห็น วัฒนา เสียด้วยแทบทุกครั้ง

จนถึงคราวมีการเปิด ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในปี 2505 ร้านอาหารทะเลชื่อ “บ้านแก้ว เรือนขวัญ” ที่วัฒนาเป็นเจ้าของก็เริ่มเปิดกิจการ

ครั้นในเวลาต่อมา ก็เริ่มเปิดธุรกิจสัมปทานค้าน้ำมัน ที่ได้รับจากองค์การน้ำมันเชื้อเพลิง (ปตท.-ผู้เขียน)

ขณะเดียวกันก็ได้สร้าง “คอนเนกชั่น” กับสายการเมืองอย่าง พันตรี ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งแทบจะแน่นอนว่า นักธุรกิจในเวลานั้น ที่จะทำธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ก็ต้องอาศัยเส้นสายข้าราชการ หรือ ผู้มีอำนาจในเวลานั้น ซึ่งก็มีมาตั้งนานแล้ว

ก่อนที่จะขยับขยายไปจับธุรกิจ เรือประมง และสารพัด

แต่ในขณะเดียวกัน การช่วยเหลือผู้คน ซึ่งเป็นนิสัยของตัววัฒนาเอง ทำให้ได้รับความนิยมจากตัวชาวบ้าน จนมีผู้ทาบทามไปลงเลือกตั้งเสียบ่อยๆ 

และทำให้ได้รู้จักกับ สังข์ พัธโนทัย คนสนิท จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่สนิทสนมกันตั้งแต่นั้นมา…

และทำให้มีความสนิทสนม กับ มั่น พัธโนทัย ลูกชายของสังข์

ซึ่งวัฒนา นับถือ สังข์ เสมือนเป็นครูทางการเมือง

เพราะสังข์นี่เอง ที่นำพาให้วัฒนา ได้เข้าสู่วงการการเมือง

ปี 2518 วัฒนา อัศวเหม เข้าสังกัดพรรคสังคมชาตินิยม ของ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ

ประกอบ_1-01.jpg

การเลือกตั้งปี 2518 วัฒนา ลงในนามพรรคสังคมชาตินิยม และได้รับการเลือกตั้ง เป็น ส.ส. สมุทรปราการ สมัยแรก

และ ในระหว่างสมัยประชุม ก็มีเรื่องที่วัฒนา ได้ขออภิปราย ในประเด็นเกี่ยวกับน้ำมันและเรือประมง

ประโยคที่ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูดโพล่งออกมา จนเป็นวลีเด็ดคือ “ยุ่งตายห่า” ก็มาจากกรณีในวันนั้น…

ก่อนที่สถานการณ์การเมือง จะพลิกผัน และกลายเป็น “กลุ่มรวมชาติ” ที่นำโดย พรรคกิจสังคม ของ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐบาลในปี 2519

และ วัฒนา ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ประกอบ_2-01.jpg

ก่อนที่จะยุบสภาในเวลาต่อมา…

เส้นทางการเมืองสู่ “พรรคคราษฎร”

เลือกตั้งครั้งต่อมา (2522) รอบนี้วัฒนาสังกัด พรรคชาติประชาชน ของ เรืออากาศตรี บุญยง วัฒนพงศ์ และได้รับการเลือกตั้ง

และเมื่อพรรคชาติประชาชน ควบรวมเข้ากับ พรรคสยามประชาธิปไตย ของ พันเอก (พ.) พล เริงประเสริฐวิทย์

วัฒนา ในเวลานั้น ก็เนื้อหอมไม่ใช่เล่น 

และ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ได้เชิญ วัฒนา เข้าร่วมพรรคชาติไทย และลงสมัครในการรับเลือกตั้ง ส.ส. สมุทรปราการ และได้รับการเลือกตั้ง 

ปี 2525 มีการก่อตั้ง พรรคสหชาติ โดย พันเอก ดร.พัฒนา พยัคฆนิธิ และต่อมา เปลื่ยนชื่อเป็น พรรคราษฎร โดยมี พลเอก เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ นายทหาร “ลูกป๋า” เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีกระแสข่าวว่า เป็นการลับว่า ให้นายทหารระดับสูง เข้าไปเป็นสมาชิก และ เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ประกอบ_3-01.jpg

เวลานั้น วัฒนา อัศวเหม ก็ถูกทาบทาม และ ได้เข้าร่วมในเวลาถัดมา…

และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ พลังอำนาจ กลุ่มปากน้ำ ในเวลาถัดมา

การเลือกตั้ง 2529 พรรคราษฎรได้ที่นั่งเพียง 20 ที่นั่ง และเข้าร่วมรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยในปีนั้น มี ส.ส. ดังเช่น ไพฑูรย์ แก้วทอง, วัฒนา อัศวเหม, เงิน บุญสุภา, อิสสระ สมชัย, สุนทร วิลาวัลย์, โดยที่ พลเอก เทียนชัย ได้รับคะแนนเสียง จากการที่เคยเป็น ผู้บัญชาการหน่วยฯ สงครามพิเศษ และได้รับเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง 2531 21 คนที่พรรคราษฎร ได้รับเลือก ได้เข้าร่วมรัฐบาล พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ

แต่….

ปัญหาภายในพรรคก็เกิด

ปลายปี 2533 พลเอก เทียนชัย ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมๆ กับการลาออกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันของ วัฒนา อัศวเหมที่กลับไปเข้าร่วม พรรคชาติไทย แถมมารอบนี้ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคด้วย

จนมีการประชุมกันใหม่ และมีมติให้ พลเอก มานะ รัตนโกเศศ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เป็นเลขาธิการพรรค

ถึงแม้จะมีการเลือกผู้บริหารพรรคกันใหม่ แต่กลุ่ม ส.ส. ปากน้ำของ วัฒนา ที่หายไป และเป็นแกนหลักพรรค ไปอยู่ พรรคชาติไทย 

ก็ต้องมีการตัดสินใจว่า….จะดำรงพรรค หรือ รวมกับพรรคชาติไทย

คนที่น่าจะมีบทบาทที่สุด ก็คงจะเป็นตัวเลขาธิการพรรคอย่าง “ชัยภักดิ์” เอง

และ ชัยภักดิ์ เลือก อย่างแรก

ประกอบ_4-01.jpgประกอบ_4-2 (1).jpg

การเลือกตั้ง มีนาคม 2535 พรรคได้ 4 ที่นั่งในสภา คือ พลเอก มานะ, ชัยภักดิ์, ร้อยเอก เอนก นาวาพานิช, และ สุรพล เลี้ยงบำรุง

พรรค เข้าร่วมรัฐบาล พลเอก สุจินดา คราประยูร…

แต่ปัญหา ก็ยังไม่ยอมจบสิ้นเสียง่ายๆ เมื่อพรรคโดนไล่ที่ แถมช่วงจัดตั้งรัฐบาลในส่วนของพรรค ก็บังเกิดความขัดแย้งกันอีก ระหว่าง พลเอก มานะ กับ ชัยภักดิ์ ในการจัดสรรรัฐมนตรี โดย พลเอก มานะ อ้างว่า ชัยภักดิ์ “จัดโผ” ไม่ปรึกษากันก่อน แถมยัง “ล้วงลูก” ด้วยการเสนอตัวชัยภักดิ์เป็นรัฐมนตรี ซึ่งต่อมา ก็มีการตอบโต้ว่า พลเอก มานะ “ไม่เหมาะสม” เป็นรัฐมนตรีอื่น ที่ไม่ใช่ รัฐมนตรีว่าการ

สุดท้ายในคราวนั้น เป็น “เลขาฯ ชัยภักดิ์” ที่สมหวัง ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วน พลเอก มานะ น่ะหรือ……

ก็อดไง

ประกอบ_5-01.jpg

และเป็นครั้งสุดท้าย ที่พรรคราษฎร ฉบับ พลเอก เทียนชัย ก็เพราะว่าในการเลือกตั้ง 2538 พรรคไม่ได้ส่งลงเลือกตั้ง ศาลฎีกามีคำสั่งที่ 5041/2539 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ให้ยุบพรรคในที่สุด…

แต่ กลุ่มปากน้ำ ก็ยังอยู่ในสายธารแห่งอำนาจการเมือง ในพรรคชาติไทย


อำนาจของ “กลุ่มปากน้ำ” 

กลุ่มปากน้ำ ในช่วงเวลานั้น นอกจากวัฒนา แล้ว ยังมีสมาชิกในกลุ่ม อาทิ

ประกอบ_6-01.jpg

ซึ่งภายหลังเอง ก็มีช่วงที่ วัฒนา มีปัญหาเรื่อง “วีซ่า” ของสหรัฐอเมริกา จากเรื่องที่ทาง อเมริกา กล่าวว่า “มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด” แต่ก็ได้มีการตรวจสอบ และ ชี้แจง ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ประกอบ_7-01.jpg

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหากับบรรหาร ศิลปอาชา จนทำให้โดนอัปเปหิ ออกจากพรรค กลุ่มปากน้ำ กลายเป็นพวกไร้สังกัด

และ สมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคประชากรไทยนี้เอง รับ “กลุ่มปากน้ำ” นี้ เข้าร่วมพรรค ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2539

แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า ในเวลาต่อมา พวกนี้คือ “งูเห่า”

เลือกตั้ง 2539 พรคประชากรไทย ได้ 18 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและ ได้ร่วมรัฐบาลกับ พรรคความหวังใหม่

แต่เมื่อ มีการผกผันทางการเมือง อันเนื่องมาจากปัญญหาเศรษฐกิจ จนทำให้รัฐนาวาความหวังใหม่ ต้องจมดิ่ง การเมืองเลยกลับข้าง แต่ ก็ติด ติดที่พรรคประชากรไทย

เพราะอะไร…

ก็เพราะบัญชีนายกรัฐมนตรี ไม่ตรงกันน่ะซี

กล่าวคือ พรรคประชากรไทย สาย สมัคร สุนทรเวช เสนอชื่อ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี (ตามมติพรรคร่วมรัฐบาลแต่เดิม)

ทว่า พรรคประชากรไทย สาย วัฒนา อัศวเหม และอีก 13 คน เสนอชื่อ ชวน หลีกภัย เป้นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งในเวลานั้น เสียงในสภา ระหว่างฝ่ายความหวังใหม่ กับ ประชาธิปัตย์ อยู่ที่….

ประกอบ_8-01 (1).jpg

ก็เพราะ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ นี่แหละ ที่ไปดึง 14 เสียงของพรรคประชากรไทย เข้าร่วมรัฐบาลซึ่งนำโดย วัฒนา นี่เอง สมัคร เลยให้ฉายา 14 คนนี้ว่า “งูเห่า”


ประกอบ_9-01.jpg

ซึ่งภายหลัง พรรคประชากรไทย ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ 13 คน พ้นสมาชิกภาพ (ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากพรรคการเมืองเมื่อใด ก็เท่ากับพ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย)

แต่ศาลก็มีคำพิพากษา ว่าไม่ผิด เพราะการสนับสนุนนายกรัฐมนตรี เพื่อเอกสิทธิ์สำหรับตัวบุคคล

ซึ่ง กลุ่มงูเห่า ได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ฮย่าง ยิ่งพันธ์ มนะสิการ ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, วัฒนา อัศวเหม ที่เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยสิ่งที่กลายเป็น “รอยด่าง” ของทั้งกลุ่มปากน้ำ และ กลุ่มงูเห่า คือเรื่อง “คดีคลองด่าน” ในเวลาต่อมา


ประกอบ_10-01.jpg


พรรคราษฎร “อีกครั้ง”

10 กุมภาพันธ์ 2541 พรรคราษฎร ก่อตั้งใหม่ โดยให้ สมชาย หิรัญพฤกษ์ สมาชิกพรรคราษฎร เดิม จดแจ้ง ก่อนที่จะมีการเปลื่ยนแปลง กรรมการบริหารพรรค โดยให้ พลอาอาศเอก สมบุญ ระหงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งภายหลังสนิทสนมกับวัฒนา

ประกอบ_11-01.jpg

ซึ่ง พรรค เตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง 2544 โดยมีผู้สมัคร ส.ส ของพรรค หลายๆคนที่มีชื่อเสียงเช่น นันทิดา แก้วบัวสาย (อัศวเหม) ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งใน เขต 1 สมุทรปราการ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ลงในเขต 4 พระนครอยุธยา เป็นต้น

ประกอบ_12-01.jpgประกอบ_13-01 (1).jpg

แต่ในการเลือกตั้ง 2544 นั้น พรรคราษฎรกลับไม่ดีอย่างที่คิด เอาเป็นว่า สมุทรปราการ ที่เป็นถึง หัวใจของอัศวเหม ยังได้แค่เขตเดียว และเขตนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอัศวเหมด้วย ก็คือ เรวดี รัศมิทัต ลูกสาว “กำนันตี๋” อำนวย รัศมิทัต คนดังแห่งพระประแดง

ประกอบ_14-01.jpg

ซึ่งการที่ได้ ส.ส. เพียงคนเดียวนี้เอง เมื่อรวมคะแนนแล้ว กลายเป็นว่าคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้เป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ 

วัฒนา อัศวเหม, พลอาอาศเอก สมบุญ ระหงษ์, มั่น พัธโนทัย และอีกหลายๆ คน ก็สอบตกไปตามระเบียบ…

ประกอบ_15-01.jpg

และเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม พรรคได้ที่นั่งเพิ่มอีกหนึ่งเขต คือ เขต 2 นครพนม คือ ชัยวัฒน์ กุลศักดิ์วิมล

แต่โดยรวมแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ

และสุดท้ายการเปลื่ยนแปลงก็เกิดขึ้น….ในการเลือกตั้ง 2548

แปลงร่างเป็น พรรคมหาชน และ ย้าย….

การเลือกตั้ง 2548 พรรคราษฎร เปลื่ยนชื่อเป็น พรรคมหาชน พร้อมๆ กับ การเข้าร่วมผนึกกำลังของ กลุ่มของ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ที่พึ่งพ้นโทษตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี ที่ย้ายออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และยังมี ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฏี “สองนคราประชาธิปไตย” โดยเสนอตัวเองเป็น “ทางเลือกที่สาม” ซึ่งหมายความว่า “กลุ่มปากน้ำ” ปล่อยพรรคให้คนนอกมาบริหาร (แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็ยังมีคนของกลุ่มอัศวเหม ยังมีบทบาทในพรรคในฐานะกรรมการบริหารพรรค)

ประกอบ_16-01.jpg

ซึ่งในการเลือกตั้ง 2548 การที่พรรคเสนอตัวเองว่าเป็น “ทางเลือกที่สาม” มันไม่สามารถตอบสนองอะไรได้มากหนัก ขณะเดียวกัน กระแสของ “พรรคไทยรักไทย” ที่แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ทำให้จากที่เคยคาดกันว่า 20 ที่นั่งอย่างน้อย แต่กลับได้แค่ 2 ที่นั่ง ขนาด ลูกชายของ พลตรี สนั่น อย่าง ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ยัง “สอบตก” ในเขตจังหวัดพิจิตร (ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งซ่อมในภายหลัง)

สุดท้าย พรรคมหาชน ของพรรคราษฎรเดิม ก็หมดบทบาทไป

แต่กลุ่มปากน้ำ ยังไม่หยุด…

เมื่อมีการเลือกตั้ง ในปี 2550 ได้รวมกับ กลุ่มวังพญานาค, กลุ่มของ สุวิทย์ คุณกิตติ และ กลุ่มบ้านริมน้ำ ตั้งพรรค เป็น พรรคเพื่อแผ่นดิน

ประกอบ_17-01.jpg

แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะ ไทยรักไทย แรงในพื้นที่ สมุทรปราการมาตั้งแต่ 2544 ถึงแม้ว่าจะพยายามกู้หน้าในทางการเมืองสนามใหญ่ แต่ก็แป้ก 

นั่นทำให้ พวกเขาเน้นการเมืองสนามเล็ก คือการต่อสู้ในการเมืองท้องถิ่นแทน เพราะคู่ต่อสู้ทางการเมืองท้องถิ่น นอกจาก “ตระกูลกุลเจริญ” แล้ว “ตระกูลรัศมีทัต” ที่เป็นใหญ่ในการเมืองฝั่งพระประแดง เริ่มมีอำนาจใน อบจ. สมุทรปราการ ทำให้ต้องดูแลการเมืองท้องถิ่นในส่วนนี้ด้วย

แต่ทว่า เคราะห์ซัดกรรมซัดหรือยังไงมิทราบ เมื่อ “คดีคลองด่าน” เล่นงานจนได้ จนทำให้ วัฒนา ยังไม่กลับมาเมืองไทยเพราะติดคดีนี่แหละ

สถานการณ์การเมืองแบบนี้

กลุ่มปากน้ำ ได้แต่เฟดตัวเองเงียบๆ

และแอบไปตั้งพรรคใหม่ ซึ่งก็ชื่อ พรรคราษฎร เหมือนกัน!

แต่สุดท้ายก็เปลื่ยนชื่อเป็น “พรรคมาตุภูมิ” พร้อมๆกับ การได้ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรค

ประกอบ_18-01.jpg

พรรคมาตุภูมิในเวลานั้น คือการรวมกลุ่มของกลุ่มปากน้ำในเวลานั้น กับ ส.ส. กลุ่มวาดาห์ บางส่วน ที่ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้ง 2550 (3 ที่นั่ง-แบ่งเขต 2,สัดส่วน 1) เข้าร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเวลาต่อมา

และเมื่อมีการยุบสภา ในการเลือกตั้ง 2554 พรรค ได้ 2 ที่นั่งในสภา คือ พลเอก สนธิ และ อนุมัติ ซูสารอ ส.ส. ปัตตานี

และเข้าเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ

สิ่งที่เด่นชัดที่สุดในสภาฯ ของพรรคมาตุภูมิ

คงหนีไม่พ้นร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ ที่ พลเอก สนธิ เสนอมา แต่กลายเป็นชนวนระเบิดเวลา ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง….

และนำไปสู่สิ่งที่เราได้มาจนวันนี้

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557….

วันนี้ของ “ราษฎร”

หลายปีผ่านไป เมื่อมีการรัฐประหาร พรรคก็แทบจะไม่มีบทบาท เหตุเพราะ “กลุ่มปากน้ำ” ให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น และผลพวงที่เกิดจากการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองตามประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

จนกระทั่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2562 เพียง 3 เดือนกว่าๆ

พร้อมกับที่ พลเอก สนธิ เข้าเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา และ กลุ่มปากน้ำ ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

ประกอบ_19-01.jpg

และวันนี้ “แกนนำ” หลัก ไปอยู่ไหน เรามีคำตอบ

  • วัฒนา อัศวเหม - ลูกจีนที่เกิดสมุทรปราการ เริ่มต้นชีวิตการเมืองจากการชักชวนของ สังข์ พัธโนทัย เข้าร่วมกับพรรคสังคมชาตินิยม ของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมุทรปราการ สมัยแรกในปี 2518 - แกนนำ ”กลุ่มปากน้ำ” ตัวจริงเสียงจริง ปัจจุบันหลบหนี “คดีคลองด่าน” แต่ทว่า ลูกหลานตระกูลอัศวเหม ก็ยังมีบทบาททางการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ชนม์สวัสดิ์ ลูกชายคนเล็ก เคยเป็นถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ แกนนำกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า และ อัครวัฒน์ หลานของวัฒนา นำทีมนี้ เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
  • มั่น พัธโนทัย - ลูกชายของ สังข์ พัธโนทัย คนสนิท จอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มต้นการเมืองจากการเป็นคนสนิท ของ พันเอก (พ.) พล เริงประเสริฐวิทย์ ระหว่างที่เป็นเลขาธิการพรรคสยามประชาธิปไตย ก่อนที่จะได้รู้จักกับ วัฒนา และ แทบทุกครั้ง เราคงเห็นได้ว่า “วัฒนาไปไหน มั่นตามไปด้วย” - อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ปัจจุบันแทบจะลดบทบาททางการเมือง แต่ยังค่อยช่วยเหลืองานสาธารณะของจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมๆ กับการเขียนหนังสือ
  • พลเอก มานะ รัตนโกเศศ - นายทหารปืนใหญ่ ลูกขุนนางเก่า เป็นหนึ่งในนายทหารลูกป๋า ที่ส่งมาเล่นการเมือง และได้เป็น ส.ส. นครพนม บ้านเกิด - อดีตรัฐมนตรี เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2545
  • พลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ - นายทหารหมวกแดง (สงครามพิเศษ-ผู้เขียน) ผู้ที่มีชื่อลือชา จากการปราบ “กบฎ 9 กันยายน” ถูกส่งลงมาเล่นการเมือง และได้รับคะแนนจากคนลพบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ป่าหวาน อัยเป็นที่ตั้งของ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ - อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเลิกเล่นการเมืองนานแล้ว และหันไปสนใจกีฬามวยไทยแทน จนได้เป็นถึงรองประธานกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และเคยเป็นนายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ 
  • ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ - อดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์ ก่อนที่จะลงสมัคร ส.ส. ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับเลือกสมัยแรกในปี 2531 ในนามพรรคราษฎร - 1 ใน 13 “งูเห่า” แห่งพรรคประชากรไทย ที่หันไปสนับสนุน ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันถึงแม้จะเลิกเล่นการเมือง และได้เป็นนายกสมาคมกีฬาฮอกกี้แห่งประเทศไทย แต่ในการเลือกตั้ง 2562 ชัยภักดิ์ ยังช่วย วารุจ น้องชายที่ทำงานการเมืองต่อ หาเสียงในนาม พรรคพลังประชารัฐ
  • พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ - อดีตผู้อำนวยการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อนร่วมรุ่นนายร้อย จปร. รุ่นเดียวกับ พลเอก สุจินดา คราประยูร และ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล เข้ามาเล่นการเมืองในนามพรรคชาติไทย ต่อมาสนิทสนมกับ วัฒนา อัศวเหม ระหว่างที่อยู่พรรคชาติไทย และได้เป็นหัวหน้าพรรคราษฎร - หลังจาก “สอบตก” ในการเลือกตั้ง 2544 ก็แทบจะยุติบทบาททางการเมือง จนเสียชีวิตไปเมื่อปี 2556 ปิดตำนาน “แต่งชุดขาวรอเก้อ” 

ตอนหน้าจะพาไปนิทัศน์ พรรคขวัญใจคนกรุงเทพฯ ในอดีต กับ “พรรคพลังธรรม” ครับ


อ้างอิง

  • ชาลินี แก้วคงคา. (2556). รู้จัก “วัฒนา” รู้จริง “คลองด่าน”. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
  • กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2535). เทศาภิบาล ฉบับพิเศษ เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535. : กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง
  • ศูนย์บริการข้อมูลและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. “การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2539 ฉบับที่ 1 ก่อนการเลือกตั้ง”. เอกสารเผยแพร่ในวงงานวุฒิสภา กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2539
  • ฐานเศรษฐกิจ. (2535). 360 เจ้ายุทธจักรสภาหินอ่อน. กรุงเทพฯ : บริษัทฐานเศรษฐกิจ
  • วาสนา นาน่วม. (2553). ลับ ลวง พราง ภาค 2 ซ่อนรูปปฏิวัติหัก 'เหลี่ยม' โหด พ.11. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
  • สัมภาษณ์ บัณฑิต จันทศรีคำ (แคน สาริกา) วันที่ 5 มิถุนายน 2562
  • http://www.kpi.ac.th
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/A/091/3.PDF
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0E/00145762.PDF
  • https://mgronline.com/politics/detail/9470000016870
  • https://www.sanook.com/news/1120512/
  • https://www.posttoday.com/social/local/380809
  • https://prachatai.com/journal/2011/05/35147
  • http://www.kodmhai.com/vinit/2542/Vnit-1.html 
  • https://www.posttoday.com/politic/news/590989
ชาติ ดุริยะ
เด็กสายวิทย์ที่ดูเรียนผิดสายพบเห็นได้ตามกลุ่มปรัชญาการเมืองทั่วๆไป
1Article
0Video
5Blog