ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นที่ฮือฮาหลังจากที่ปรึกษาและประธานนโยบายของ กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าหารือทูตเกาหลีเหนือเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา-นวัตกรรม โดยประชาชนหลายฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเหมาะสมแล้วหรือไม่กับการที่ไทยจะต้องไปหารือเรื่อง ‘การศึกษา’ กับชาติคอมมิวนิสต์ที่ปิดประเทศตนเองอย่างเกาหลีเหนือ

เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช' ของ กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (กัลยา โสณพนิช) ในฐานะประธานอนุกรรมการ Coding แห่งชาติ เข้าร่วมหารือกับเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือ คิม เช พง ในหลากหลายมิติ ด้านการศึกษา การเกษตร ด้านอุปกรณ์การเเพทย์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม บนมิติ Coding for all ณ สถานทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย อย่างไรก็ดี โพสต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

คำวิพากษ์วิจารณ์มีด้วยกันในหลายแนวทาง อย่างไรก็ดี รายงานข่าว MIC ในต่างประเทศระบุว่า จากการแข่งขันเขียนโค้ดในปี 2559 เด็กนักเรียนสาขาโปรแกรมมิ่งของเกาหลีเหนือสามารถเอาชนะการแข่งขัน ACM International Collegiate Programming ด้วยอันดับที่ 28 จากทีมนักเรียนกว่าร้อยทีม

สถิติดังกล่าวอาจไม่ได้น่าสนใจอะไรมากหากไม่ได้ลงไปดูในรายละเอียด อย่างไรก็ดี เด็กนักเรียนเกาหลีเหนือรายดังกล่าวกลับเอาชนะเด็กนักเรียนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัย 10 อันดับต้นของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

ตั้งแต่ปี 2547-2560 ในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกสากล นักเรียนชาวเกาหลีเหนือคว้ารางวัลไปด้วยจำนวน 19 เหรียญทอง 33 เหรียญเงิน และ 9 เหรียญทองแดง จากกว่าตัวแทนจากร้อยประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน อันดับที่เกาเหลือเหนือเคยได้ต่ำที่สุดคืออันดับที่ 19 และอันดับสูงที่สุดคืออันดับที่ 4 สูสีมากันกับตัวแทนจากรัสเซีย จีน และมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดของสหรัฐฯ

เคยมีการรายงานข่าวแฮกเกอร์เกาหลีเหนือที่ดูฟังน่าขบขันในสายตาชาวโลก เนื่องจากระบอบการปกครองเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ และพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเอง อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับความสามารถของประชาชนชาวเกาหลีเหนือภายใต้ระบอบการปกครองอันกดขี่ดังกล่าว

ระบอบการปกครองของ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุด เผด็จการผู้ชอบทดลองขีปนาวุธ มีความต้องการนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และแฮกเกอร์ระดับแนวหน้า ทางการเกาหลีเหนือคัดกรองเด็กวัยประถมที่มีแววด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนที่เด็กเหล่านั้นจะถูกส่งเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมเฉพาะ ระบอบเกาหลีเหนือใช้การแข่งขันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ทั้งในและนอกประเทศเพื่อเฟ้นหาสุดยอดของสุดยอดอัจฉริยะด้านการเขียนโปรแกรมมาโดยตลอด

ตัวอย่างจากรายงานข่าวของ MIC ได้ระบุถึง มุนโซมิน นักเรียนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีคิมแจกในเกาหลีเหนือ มุนได้เข้าแข่งขันระดับภูมิภาคของเกาหลีเหนือ เพื่อเข้าไปแข่งขันใน ACM Intercollegiate Programming และ International Mathematics Olympiad ตลอดจน Codeforces ซึ่งเป็นการแข่งขันโค้ดดิ้งในรัสเซียเมื่อปี 2560 ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ มุนสามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันจากทาง DropBox และทีมของ Google ได้

จากรายงานระบุอีกว่า โรงเรียนสอนโปรแกมมิ่งในเกาหลีเหนือมีอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยชั้นเรียนมักมีเด็กในแต่ละห้องไม่กี่คน เพื่อให้เด็กเหล่านั้นสามารถมุ่งความสนใจและเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ประเทศที่มีระบบอินเทอร์เน็ตแบบปิดออกจากโลกภายนอก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีเหนือให้ความสนใจกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในฐานะเครื่องมือเพื่อป้องปรามตนเองจาก “ศัตรูภายนอก” ในปี 2543 คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือรุ่นที่สองและพ่อของคิมจองอึนทำให้โลกต้องตกตะลึง หลังคิมเสนอแลกอีเมล์ส่วนตัวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่าง มาเดลีน อัลไบร์ท ที่เดินทางมาเยือนเปียงยาง

คิมผู้พ่อเคยระบุต่อกองทัพเกาหลีเหนือในปี 2539 ว่า “สงครามทั้งหมดในอนาคตจะกลายเป็นสงครามทางคอมพิวเตอร์” แสดงให้เห็นว่ เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของตนเองในการสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีให้แก่รัฐอยู่อย่างมาก เพื่อป้องกันตนเองไม่ต่างอะไรไปจากการทดลองขีปนาวุธ

อย่างไรก็ดี การที่เกาหลีเหนือมีทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความสามารถในการเขียนโค้ดดิ้ง ไม่อาจสร้างความชอบธรรมต่อระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชนของตนเองด้วยอำนจเผด็จการ จนประชาชนในรัฐต่างต้องพบกับความอดอยากและยากจน การหารือระหว่างที่ปรึกษาของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษาธิการของไทยกับทูตของเกาหลีเหนือจึงอาจจะต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง เพื่อใม่ให้ขึ้นชื่อว่าไทยเองโน้มเอียงเข้าหาเกาหลีเหนือ โดยมิได้สนใจประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์แห่งนี้

ที่มา:

https://www.mic.com/articles/186412/north-korean-college-coders-beat-stanford-university-in-a-2016-competition-heres-why-that-matters