นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) แถลงประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประจำปี 2563 ว่าจะปรับตัวติดลบร้อยละ 5.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการหดตัวของนักท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
เมื่อประเมินเศรษฐกิจไทยควบคู่กับการคาดการณ์สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่จะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ตัวเลขประมาณการจีดีพีไทยในปีนี้มีผลติดลบ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่โตแค่ติดลบร้อยละ 0.1 ไม่ถึงกรอบล่างของเป้าหมาย
ส่งออกเป็นหมัน-นักท่องเที่ยวไม่มี
ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวติดลบถึงร้อยละ 8.8 ในเดือนมี.ค.นี้ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสายพานการผลิตโลกถูกแทรกแซงและทำให้ต้องหยุดชะงักในหลายประเทศจากการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ในหลายประเทศ
ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่อวันก็หดตัวลงมากกว่าร้อยละ 90 จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวผ่านด่านประมาณแสนรายต่อวัน ก็ปรับลดมาไม่ถึง 1,000 ราย/วัน นอกจากนี้ตัวเลขการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือน ก็ปรับตัวลดลงจนแทบจะหายไปทั้งหมด
ฝั่งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของการแพร่ระบาด โดยนายดอนย้ำว่า แม้ความหวังของเศรษฐกิจไทยจะยังมีอยู่ที่การใช้จ่ายภาครัฐแต่ก็ไม่มีทางเพียงพอต่อการพยุงเศรษฐกิจทั้งหมดในช่วงนี้
นายดอนย้ำว่า ค่าประมาณตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งหากกระทรวงการคลังสามารถออกชุดนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด รวมถึงรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจประเทศจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นและปรับขึ้นมาเป็นบวกในปีหน้า ที่อัตราการเติบโตของจีดีดีร้อยละ 3 ต่อปี
กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยแล้ว เน้นให้ถึงตัวบุคคลแทน
ขณะที่แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2563 ประจำวันที่ 25 มี.ค. ชี้ว่า คณะกรรมการมีมติสี่ต่อสองเสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ขณะที่อีกสองเสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.50 โดยในการประชุมครั้งนี้มีคณะกรรมการหนึ่งรายลาประชุม
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคำส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศยังมีมีเสถียรภาพที่ดี รวมถึงเริ่มเห็นสัญญาณในการปรับตัวทางแนวบวกของตลาดการเงิน พร้อมย้ำว่าการแก้ปัญหาในขณะนี้จำเป็นต้องแก้ให้ตรงจุดด้วยการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการปรับรุงโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ นายทิตนันทิ์ ยังย้ำว่าการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งฝั่งมาตรการทางการเงินที่ ธปท. ย้ำว่ามีความพร้อมในการบังคับใช้นโยบายเพิ่มเติม รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ และมาตรการที่จะออกมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากฝั่งนโยบายการคลัง