ไม่พบผลการค้นหา
'ประจักษ์ ก้องกีรติ' ย้ำ ศาล รธน. รับภาษีประชาชน ควรถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ ด้าน 'วัฒนา เมืองสุข' ชี้กฎหมายหมิ่นศาล รธน. ออกในยุคเผด็จการ คสช. ขยายอำนาจศาลจนละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน

จากกรณีที่ 'จรรยา วงศ์สุรวัฒน์' ผู้ผลิตคอนเทนต์ในเครือ 'SpokeDark' เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ @Rosie_Spokedark พร้อมเอกสารจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ข้อความที่ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทวีตถึงศาลรัฐธรรมนูญ 'ไม่เหมาะสม' พร้อม 'เชิญ' รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ไปให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10.00 น.

ต่อมา 27 ส.ค. 2562 ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รีทวิตข้อความของ @Rosie_Spokedark พร้อมระบุข้อความผ่านทวิตเตอร์ prajak kong ว่า "มาถึงยุคที่ทวิตเตอร์ถูกมอนิเตอร์และคนทวิตถูกเรียกตัวโดยองค์กรรัฐ: ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสาธารณะที่ทำงานโดยได้รับภาษีจากประชาชน และขอบข่ายอำนาจหน้าที่กระทบกับผลประโยชน์สาธารณะ ควรถูกสามารถวิพากษ์วิจารณ์และกำกับตรวจสอบโดยประชาชนได้"

ด้าน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Watana Muangsook ระบุถึงความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลว่า "ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (Contempt of Court) มีขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลและเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว กฎหมายจึงให้อำนาจศาลสั่งไต่สวนและลงโทษผู้ที่ทำละเมิดได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบสวนของตำรวจและการฟ้องของอัยการดังเช่นคดีอาญาทั่วไป"

อำนาจของศาลดังกล่าวคล้ายกับอำนาจของประธานสภาที่มีสิทธิสั่งให้สมาชิกที่ประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมออกไปจากห้องประชุมได้ เพื่อให้การประชุมของสภาเป็นไปโดยเรียบร้อยไม่เกิดความวุ่นวาย แต่หากการกระทำใดก็ตามที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีของศาล เช่น การวิจารณ์คำพิพากษา แม้จะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทศาล แต่ก็มิได้เป็นการขัดขวางการพิจารณาคดี เพราะขั้นตอนดังกล่าวเสร็จจนศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว หากศาลเห็นว่าตนเองเสียหายและประสงค์จะดำเนินคดีก็ควรเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมปกติ ด้วยการร้องทุกข์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนและอัยการได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ หากอัยการสั่งฟ้องกฎหมายก็คุ้มครองจำเลยโดยห้ามศาลที่มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิจารณาคดี

นายวัฒนา ระบุว่า "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคท้ายบัญญัติว่า “การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล” เป็นกฎหมายที่ออกในยุคเผด็จการ คสช. ที่ขยายอำนาจศาลจนละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพราะให้อำนาจศาลใช้อำนาจพิเศษดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาแม้ภายหลังเสร็จการพิจารณาแล้ว อีกทั้งการวินิจฉัยว่าถ้อยคำใดเป็นคำหยาบคายหรือเสียดสีก็กระทำโดยศาลที่เป็นคู่กรณีจึงทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่อำนาจพิเศษที่ลัดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมจะต้องกระทำอย่างจำกัดเพื่อปกป้องประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ปกป้องประโยชน์ของตนเอง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง