ไม่พบผลการค้นหา
อังเกลา แมร์เคล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกมากล่าวปกป้องนโยบายของเยอรมนีต่อรัสเซีย ในช่วงยุคสมัยของเธอ ก่อนการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า เธอไม่เหลืออำนาจในการโน้มน้าว วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดีรัสเซียรู้ว่า เธอจะหมดอำนาจลงในอีกมานานหลังจากการพบหน้ากันครั้งสุดท้าย

แมร์เคลระบุว่า เธอพยายามจัดการเจรจาระหว่างยุโรปกับประธานาธิบดีรัสเซีย และ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในช่วงฤดูร้อนปี 2564 “แต่ดิฉันไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปจัดการได้” อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวกับสำนักข่าว Spiegel ของเยอรมนี 

“ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ เดี๋ยวเธอก็ไปแล้ว” แมร์เคลกล่าว ถึงช่วงเวลาก่อนที่ตนจะวางมือลง จากการเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตลอด 16 ปีที่ยาวนาน โดยเธอพยายามบอกเป็นนัยว่า ปูตินไม่สนใจคำแนะนำของเธอ เนื่องจากก่อนช่วงการรุกรานยูเครน เป็นช่วงปลายสมัยที่เธอจะหมดอำนาจลงจากการเป็นผู้นำเยอรมนีพอดี

หลังจากการดำรงตำแหน่งนาน 4 วาระในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แมร์เคลออกจากตำแหน่งในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เธอเดินทางไปกรุงมอสโกของรัสเซียครั้งสุดท้ายในเดือน ส.ค. 2564 โดยแมร์เคลบอกกับนิตยสารข่าวของเยอรมนี ย้อนกลับไปถึงการเยือนรัสเซียในครั้งนั้นว่า “ความรู้สึกมันชัดเจนมาก 'ในแง่ของการเมืองว่าด้วยขั้วอำนาจ คุณจบแล้ว’” แมร์เคลกล่าวเสริมอีกว่า “สำหรับปูติน อำนาจเท่านั้นที่สำคัญ” 

แมร์เคลตั้งข้อสังเกตว่า มีนัยสำคัญที่ปูตินกระทำต่อเธอในการพบหน้ากันครั้งสุดท้าย เนื่องจากปูตินได้นำ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เข้าพบกับเธอในกรุงมอสโกด้วย ก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะมีการเจรจากันตัวต่อตัว

ในแง่เรื่องการรุกรานยูเครนของปูตินในฐานะประธานาธิบดีรัสเซีย หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์แมร์เคลและผู้นำจากชาติสหภาพยุโรปอื่นๆ ว่า พวกตนควรหาแนวทางที่เข้มงวดต่อรัสเซียให้มากขึ้น หลังจากมีหลักฐานพบว่า รัสเซียเริ่มระดมกำลังพลของตนจำนวนมากในบริเวณพรมแดนติดกับยูเครน ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการรุกรานเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

โรเดอริก คีสเวตเทอร์ ส.ส. พรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของพรรค เป็นหนึ่งในผู้ที่กล่าวว่า แมร์เคลรู้ว่าปูตินกำลังพยายามทำให้ยุโรปแตกแยกและอ่อนแอลง แต่อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเชื่อว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” (อำนาจโน้มน้าว) จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการที่เยอรมนีจะโน้มน้าวรัสเซีย คีสเวตเทอร์ยังชี้อีกว่า ในช่วงก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซียนั้น เยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากเกินไป

ในการให้สัมภาษณ์กับ Spiegel แมร์เคลกล่าวว่าจุดยืนของเธอต่อยูเครนในการเจรจาสันติภาพมินสก์ ได้ช่วยซื้อเวลาให้ยูเครน ในการปกป้องตนเองจากกองทัพรัสเซียได้ดีขึ้น ทั้งนี้ มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในมินสก์ขึ้น หลังจากการผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของรัสเซียในปี 2557 และระหว่างการทำสงครามตัวแทนในภูมิภาคดอนบาส อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญในสนธิสัญญา ซึ่งรวมถึงการลดอาวุธและการกำกับดูแลจากนานาชาติ กลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้จริง

แมร์เคลกล่าวว่า เธอไม่เสียใจที่ตัดสินใจลงจากตำแหน่งในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะเธอรู้สึกว่ารัฐบาลของเธอล้มเหลวในการดำเนินการไม่เพียงแต่ในวิกฤตยูเครน แต่ยังรวมถึงความขัดแย้งในมอลโดวา จอร์เจีย ซีเรีย และลิเบีย ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับรัสเซียทั้งสิ้น

แมร์เคลและปูตินต่างมีประสบการณ์ตรง ในการใช้ชีวิตในเยอรมนีตะวันออกภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเติบโตในพื้นที่แห่งนั้น ในขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซียเคยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สายลับ KGB ของสหภาพโซเวียตที่นั่น ด้วยการทำงานด้านข่าวกรองลับ ปูตินสามารถพูดภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว ในขณะที่แมร์เคลสามารถพูดภาษารัสเซียได้บ้างเล็กน้อย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-63751688?fbclid=IwAR2rNFXm8ciexstRThhOq9ie5lUD2lwYPhbWUE_RRKzqsYFbdkOiwEEmOqU