วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนในสัดส่วนวุฒิสภาในคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมกับ ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณท่านประธานวุฒิสภาและเพื่อนๆ สมาชิก ที่ไว้วางใจ มอบหมายให้เข้าไปเป็นหนึ่งใน 21 คนในกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญ งานที่หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นทางออกหนึ่งของประเทศ รวมทั้งหลายคนที่ปรามาสว่าตั้งไปก็ทำอะไรไม่ได้ นานาจิตตังกันไป
ตอนนี้ตนคงพูดอะไรไม่ได้มาก ต้องรอท่านประธาน 'ชวน หลีกภัย' ตั้งอย่างเป็นทางการเสียก่อน และจะได้พบท่านเพื่อรับฟังแนวนโยบายในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ แต่ถ้าจะให้พูดถึงความคิดที่มีอยู่ เบื้องต้นมีความหวังเพราะเพียงแต่มีการเริ่มต้นให้มีก็ถือว่าเกิดประกายแสงแล้ว ต่อมามีตัวตนจากหลายภาคส่วนเป็นกรรมการเข้ามา ความหวังเริ่มลุกโชนขึ้น แม้จะมีบางส่วนยังไม่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ก็เป็นธรรมดาที่ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลไกสำคัญนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความปรองดอง เป็นเวทีหารือไปสู่ “ความสมานฉันท์สมัครสมานสามัคคี” จากนั้นคงต้องกระจายการมีส่วนร่วมออกไปให้กว้างขวาง สรุปในเบื้องต้นคือ
1. กรรมการสมานฉันท์ เป็นแกนกลางที่ต้องเปิดกว้างให้ “ความคิดเห็น” ต่างๆ ไหลเข้ามา โดยมีศูนย์รับข้อเสนอแนะมาสู่กรรมการ และต้องมี “ตัวตนของคนกลุ่มต่างๆ” ออกไปร่วมกัน ”เปิดเวทีความคิด” รับฟังข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นั่นคือทั้งตั้งรับและทั้งรุก
2. ข้อคิดเห็นใดที่เห็นว่าสำคัญและคลี่คลายความขัดแย้งลงได้ คงต้องเร่งนำเข้าหารือในคณะกรรมการ และเสนอแนะออกไปเพื่อให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โทษทางการเมืองที่มาจากเห็นต่าง น่าจะละเลิกลงได้ ทั้งนี้ไม่ได้ไกลไปถึงไม่เอาผิดโทษร้ายแรง หรือการเยียวยาเพื่อลดความคับข้องใจลงของผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่รั้งรอให้ทุกอย่างลงตัวหมด ซึ่งจะใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป
3. สำหรับในเรื่องที่ต้องใช้เวลา เช่น การทบทวนกระบวนการยุติธรรม ที่บางฝ่ายยังข้องใจในมาตรฐานที่ได้รับไม่เท่าเทียมกัน ก็ต้องมีข้อเสนอที่คลี่คลายลง
เหล่านี้คือความคิดเห็นเบื้องต้นที่มีอยู่ ทั้งนี้คงต้องปรับให้รับได้กับแนวความคิดอื่นๆ ด้วยในโอกาสต่อๆ ไป