ไม่พบผลการค้นหา
30 ม.ค.2565 ภาคี Svaeบางกลอย จัดคาร์ม็อบจากถนนพิษณุโลกไปยังหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 4 ข้อ และมีกิจกรรมสาดสีใส่ป้ายกระทรวงประกอบเสียงกลองของกลุ่มราษดรัม จากนั้นมีการเคลื่อนขบวนผ่านไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและติดป้ายผ้ารอบอนุสาวรีย์

ข้อเรียกร้องของภาคีฯ ประกอบด้วย 

1.ตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชุนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 

2.ยุติคดีความของชาวบ้านบางกลอย 30 คน และภาคีsaveบางกลอย 10 คน 

3.แก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และกฎหมายระดับรองที่ผ่านในยุค สนช. เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอยู่กับป่า 

4.รับรองและผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับภาคประชาชน 

ตัวแทนจากภาคี Saveบางกลอยระบุด้วยว่า หลังการรัฐประหารโดยคสช.ในปี 2557 มีการออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" กล่าวอ้างว่าจะทวงผืนป่าจากนายทุนและมีการแผนแม่บททรัพยากรที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าไม้ 40% ของพื้นที่ประเทศ หรือราว 128 ล้านไร่ จากนั้นผ่านมาอีก 6 ปี มีคดีความเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้และป่าอนุรักษ์ ไม่ต่ำกว่า 46,000 คดี

"อยากชวนคนในเมืองร่วมตั้งคำถามว่า ในกว่าสี่หมื่นคดีนั้น มีนายทุนและนักการเมืองกี่คดี เพราะเท่าที่เห็นมีแต่พี่น้องคนจน พี่น้องชาติพันธุ์ทั้งนั้นที่ต้องสูญเสียที่ดิน ทั้งที่บรรพบุรุษอยู่มาก่อนมีกฎหมาย" 

ทั้งนี้ ภาคีSaveบางกลอยเป็นส่วนหนึ่งของ 'ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม' (ขปส.) หรือเรียกสั้นๆ ว่า พีมูฟ ซึ่งเคยชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่างๆ มาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2564 และล่าสุด ได้กลับมาปักหลักอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2565 พร้อมข้อเรียกร้องที่รวบรวมจากเครือข่ายภาคประชาชน จำนวน 12 ข้อ ได้แก่

1.ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) และขอให้สำนักงาน คทช.รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส.ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี

2.ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน และเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้

3.ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 แล ะพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ พ.ศ.2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ตลอดจนขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

4.กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ ร.ฟ.ท.

5.รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … .บับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง

6.ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจ5.) บจธ.ต้องทบทวนปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ.พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบใหม่ๆ พัฒนาช่องทาง กสไกในเข้าถึง ทั้งการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และให้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงานระยะสองซึ่งเป็นสมาชิกของ ขปส. ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

7.ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้

8.ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบ โฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน

9.ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณ์ในทุกมิติ

10.รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ

11.แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553

12.กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในทุกด้าน ตลอดจนให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน ชาวบ้านเยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย 10 คน