ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ พบกลุ่ม LGBTQIA+ ในอเมริกา ยืนยันสนับสนุนสิทธิ พร้อเสนอตัว ให้กรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2028 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่สังคมอินคลูซีฟ

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 (ตามเวลาประเทศไทย) ณ ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมให้สัมภาษณ์กับ มิเชล เหมียว (Michelle Meow) จาก Commonwealth Club of California World Affairs และ Interpride ในประเด็นสิทธิของคนเพศหลากหลาย และการเสนอให้กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี พ.ศ.2571 (ค.ศ.2028) รวมถึงการพบปะบุคคลสำคัญด้าน LGBTQIA+ อาทิเช่น นาตาลี ทอมป์สัน (Natalie Thompson) 1 ในสมาชิกประธานผู้บริหาร ของInterpride และ ตุ๊กตา Topline นักร้องไทยแนวเพลงลูกทุ่งหมอลำ ที่ผลิตเพลงสนับสนุนกฏหมายสมรสเท่าเทียม เป็นต้น

นายกฯ กล่าวว่ามี 3 นโยบายที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสิทธิของชุมชน LGBTQIA+ ในประเทศไทย ได้แก่ 1) พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 2) พ.ร.บ.รับรองเพศอัตลักษณ์ 3) การยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมใกล้เข้าสู่ช่วงการลงคะแนนในรัฐสภา คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมนี้ นายกฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจว่ารัฐสภาจะสามารถโหวตผ่านร่างกฎหมายนี้ ด้วยเพราะเสียงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นจากประชาชนไทย ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง สิทธิของชุมชน LGBTQIA+ ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีมานี้นี้วิสัยทัศน์ของนายกฯ สำหรับงาน Bangkok World Pride ในปี 2028 คือการทำให้ประเทศไทย เป็นผู้นำและเป็นประตูสู่การเฉลิมฉลองทั้งด้านความหลากหลาย, ความเท่าเทียม, การรวมความหลากหลายของบุคคล และการยอมรับความเป็นตัวตนของบุคคล เป็นต้น โดยเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสนับสนุนสิทธิ LGBTQIA+ และความหลากหลายของกลุ่มนี้บนเวทีโลก

การเคลื่อนไหวในครั้งนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลายทางเพศ จังหวัดกรุงเทพฯกำลังเตรียมตัวสำหรับเทศกาลไพรด์พาเหรดในปี 2024 ซึ่งจะเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญในการแสดงศักยภาพงานไพรด์ เพื่อแสดงถึงคุณสมบัติ ในการเสนอจังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เข้าชิงการเป็นเจ้าภาพของ World Pride ในปี 2028 ซึ่งการตัดสิน จะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม

มากไปกว่านั้น สิ่งที่น่าจับตามอง สำหรับเทศกาลไพรด์ ก็คือขบวนพาเหรด เทศกาลไพรด์ ในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อโอบรับคนเพศหลากหลายในประเทศไทย

เมื่อย้อนกลับมาที่เทศกาลไพรด์ในปี 2023 Bangkok Pride สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ด้วยผู้คนเข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน และ การพูดถึงเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและความหลากหลายนั้นบนโซเชียลมีมากกว่า 38,547 ข้อความ และเพียง10วันมีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์ ถือว่าได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นบนโซเชียลมีเดีย (อ้างอิง https://techsauce.co/news/wisesight-zocial-eye-bangkok-pride-month-2023) 

เหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงถึงการเติบโตของชุมชนคนเพศหลากหลายในประเทศไทย ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการสนับสนุนของรัฐบาลสำหรับเทศกาลไพรด์ในปีหน้านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากรัฐบาลปัจจุบันสามารถผ่านกฎหมายสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นได้สำเร็จ รวมถึงพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่สังคมคาดหวังเป็นอย่างมาก การมีส่วนร่วมและความสนใจของสื่อไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลจากการยอมรับความหลากหลายและการรวมความหลากหลายของกลุ่มคน