ไม่พบผลการค้นหา
ตามรายงานของสถาบันวิจัยด้านกลาโหมชั้นนำระบุว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 77 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 อันเป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่ทำให้งบการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วยุโรป

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุเมื่อวันจันทร์นี้ (24 เม.ย.) ในรายงานประจำปีเกี่ยวกับงบค่าใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกว่า งบการใช้จ่ายทั่วโลกในด้านการทหารมีเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 โดยคิดเป็นเพิ่มขึ้น 13% ในยุโรป ซึ่งสูงที่สุดในรอบอย่างน้อย 30 ปี

SIPRI กล่าวว่างบการทหารส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับรัสเซียและยูเครน แต่ประเทศอื่นๆ ก็ได้มีการเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากรัสเซียด้วยเช่นกัน

“งบค่าใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ” หนานเทียน นักวิจัยอาวุโสของโครงการค่าใช้จ่ายทางทหารและการผลิตอาวุธของ SIPRI ระบุ “รัฐต่างๆ กำลังเสริมกำลังทางทหาร เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เสื่อมถอย ซึ่งพวกเขาไม่คาดคิดว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้”

รัสเซียเข้าบุกและยึดคาบสมุทรไครเมียของยูเครนในปี 2557 และสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของประเทศ ก่อนที่จะเริ่มการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของ SIPRI ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัสเซีย สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านกับรัสเซีย หรือครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของขอบเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต โดยงบการใช้จ่ายทางทหารของฟินแลนด์มีเพิ่มขึ้นกว่า 36% และงบการใช้จ่ายทางทหารของลิทัวเนียมีเพิ่มขึ้น 27%

ในเดือน เม.ย. ฟินแลนด์ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซียยาวประมาณ 1,340 กิโลเมตร ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 31 ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในขณะที่สวีเดนซึ่งหลีกเลี่ยงการเป็นพันธมิตรทางการทหารมานานกว่า 200 ปี ก็กำลังแสดงความต้องการในการเข้าร่วม NATO เช่นกัน

“ในขณะที่การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ. 2565 ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจด้านการใช้จ่ายทางทหารในปี 2565 อย่างแน่นอน แต่ความกังวลเกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซีย ได้ก่อตัวขึ้นเป็นเวลานาน” โลเรนโซ สการาซซาโต นักวิจัยในโครงการงบค่าใช้จ่ายทางทหารและการผลิตอาวุธของ SIPRI กล่าว “อดีตกลุ่มประเทศตะวันออก (สหภาพโซเวียต) หลายรัฐ ได้เพิ่มงบการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียผนวกไครเมีย”

กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวยังกล่าวว่า งบการใช้จ่ายทางทหารในยูเครนมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่าเป็น 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 พันล้านล้านบาท) ในปี 2565 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในปีเดียวของค่าใช้จ่ายทางทหารของยูเครน ที่เคยถูกบันทึกไว้ในข้อมูลของ SIPRI ในทางหนึ่ง งบการใช้จ่ายทางทหารของรัสเซียเพิ่มขึ้นประมาณ 9.2% ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.9 พันล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 4.1% ของ GDP รัสเซียในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2564

สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มีงบการใช้จ่ายเงินทางทหารมากที่สุดในโลก โดยมีอัตราเพิ่มขึ้น 0.7% เป็น 8.77 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านล้านบาท) ในปี 2565 ซึ่งคิดเป็น 39% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกทั้งหมด โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวในอัตราส่วนใหญ่ ได้รับแรงหนุนจาก “ความช่วยเหลือทางการเงินทางทหาร ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนที่มอบให้กับยูเครน” หนานเทียน จาก SIPRI กล่าว ทั้งนี้ ความช่วยเหลือทางการเงินทางทหารของสหรัฐฯ ที่มอบแก่ยูเครนคิดเป็นมูลค่ารวม 1.99 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.8 แสนล้านบาท) ในปี 2565

จีนยังคงเป็นประเทศที่งบใช้จ่ายเงินทางทหารมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยจีนจัดสรรงบการทหารประมาณ 2.92 แสนล้านเหรีญสหรัฐฯ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 ซึ่งมากกว่าในปี 2564 ถึง 4.2% และเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 28 ติดต่อกัน ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นใช้เงิน 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) ในงบด้านกองทัพของปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.9% จากปีที่แล้ว โดย SIPRI ระบุว่างบดังกล่าวนับเป็นการใช้จ่ายทางทหารของญี่ปุ่นในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2503 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและจีนเป็นผู้นำการใช้จ่ายงบทางทหารในเอเชียและโอเชียเนีย ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 19.8 ล้านล้านบาท) โดย SIPRI ระบุว่าค่าใช้จ่ายทางทหารในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2532 เป็นอย่างน้อย

ความตึงเครียดในเอเชียตะวันออกมีเพิ่มสูงขึ้นเหนือเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของตน นอกจากนี้ จีนยังอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญ โดยพื้นที่บางส่วนถูกอ้างสิทธิ์โดยประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

ญี่ปุ่นและจีนยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือเตียวหยู ซึ่งตั้งอยู่ทางพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทระยะยาวกับรัสเซียเหนือดินแดนทางตอนเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอกไกโด และถูกสหภาพโซเวียตเข้ายึดครอง เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยรัสเซียเรียกหมู่เกาะดังกล่าวว่าชื่อหมู่เกาะคูริล


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/24/world-military-spending-reaches-all-time-high-of-2-24-trillion?fbclid=IwAR2atpiFp4zFNbe_8UJ1g_UHC-RDYV1u-K2h9lcM3kmX1sLofohH1w50Jpo