วันนี้ (14 ตุลาคม พ.ศ. 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการทำงานของ ศปช.ในการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง บูรณาการร่วมแก้ปัญหา โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. มอบหมายให้คณะทำงาน ศปช.ติดตามสถานการณ์น้ำและหาแนวทางแก้ไขให้ประชาชนทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ทั้งการแจ้งเตือน ฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาทั้งการดำเนินชีวิตและเยียวยาสภาพจิตใจ ขณะเดียวกันยังมี ศปช.ส่วนหน้า ดูแลและประสานหน้างาน หารือส่วนราชการ ทำให้การทำงานในพื้นที่มีความคืบหน้าทุกวันเวลา นำโดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธาน และพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ที่ปักหลักเร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานให้เต็มศักยภาพและรวดเร็ว จนถึงขณะนี้เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกลับเข้าบ้านดำเนินชีวิตได้ตามปกติใกล้ความจริงแล้ว
“ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทั้งที่เชียงราย เชียงใหม่ จนถึงขณะนี้เส้นทางสัญจรทางถนน-รถไฟที่เคยถูกน้ำท่วมใช้ได้ตามปกติแล้ว ส่วนการดำเนินชีวิตของประชาชนภาพรวม เริ่มทยอยกลับเข้าบ้าน สามารถใช้น้ำประปา-ไฟฟ้าได้แล้ว บ้านประชาชนที่เสียหายทั้งหลัง ก็ได้สร้างบ้านน๊อกดาวน์ให้โดยกรมราชทัณฑ์ จะเหลือที่อ.แม่สาย ที่ต้องใช้เวลากู้คืนพื้นที่ โดยเฉพาะการดูดดินโคลนในท่อระบายน้ำและอาคารบ้านเรือนที่ยังมีดินโคลนอยู่ ขณะเดียวกันต้องเร่งกำจัดขยะที่ตกค้างด้วย คาดว่าภาพรวมจะฟื้นฟูแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ตามแผน Quick Win และบางจุดจะเป็นไปตามกรอบที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่จ.ลำพูน บางแห่งที่ยังมีน้ำท่วมขัง ก็ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออก แนวโน้มระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง และ ศปช. ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุทกภัย และมีค่าช่วยล้างดินโคลนบ้านน้ำท่วม หลังละ 10,000 บาท ทั้งนี้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายนและวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนยื่นคำร้องในระบบ 57 จังหวัด 200,330 ครัวเรือน ปภ.ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 7 ครั้งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และสุโขทัย ล่าสุดธนาคารออมสินโอนเงินสำเร็จผ่าน promptpay แล้ว 6 ครั้ง ให้ 17,352 ครัวเรือน จำนวนเงินกว่า 86,888,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค.67)
“การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นอีกเรื่องสำคัญ ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการในทุกขั้นตอน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือเร็วที่สุด หากประชาชนติดขัดปัญหาในขั้นตอนใด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เทศบาล / อปท.ในพื้นที่ เน้นย้ำให้ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนว่าอยู่ในการสำรวจของเทศบาลหรือไม่ เพื่อป้องกันรายชื่อที่่อาจตกหล่น” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลก็จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทันที โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบมาตรการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่อง กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากผู้ประกอบการเริ่มทยอยฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วมใหญ่ คาดดีเดย์วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ยังเตรียมปรับเงื่อนไขมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบตรงจุดมากที่สุด หากเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชน ก็จะพิจารณาขยายหรือต่อยอดโครงการต่อไป
ล่าสุด จ.เชียงใหม่ขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไฮท์ซีซั่น นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้ (14 ต.ค.67) ทุกภาคส่วนของจ.เชียงใหม่ ร่วมปฏิบัติการตามแผนฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเมืองทั่วทุกพื้นที่ โดยนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปล่อยขบวนคาราวานรถน้ำ 200 คัน พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่จาก อบจ.เชียงใหม่ อปท. ตำรวจ ทหารบกและภาคีเครือข่ายรวมกว่า 700 คน ร่วมกันเก็บขยะที่ตกค้าง ทำความสะอาด ฉีดล้างดินโคลนตามท้องถนนสายหลัก ตรอก ซอยต่างๆ ป้องกัน ฝุ่นฟุ้งกระจาย ในพื้นที่ถนนเจริญเมือง ตั้งแต่แยกหนองประทีปจนถึงสะพานนวรัฐให้แล้วเสร็จ ก่อนดำเนินการในเส้นทางอื่นต่อไป เพื่อเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สะอาด สวยงาม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮท์ซีซั่นปลายปีนี้