ไม่พบผลการค้นหา
ครม. เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 'ชิมช็อปใช้' ระบุผู้ลงทะเบียนต้องสัญชาติไทย ขยายนิยามผู้ให้บริการที่ีร่วมโครงการ ดึง สปา-รถเช่า-ไกด์ โฆษกรัฐบาลชี้ยังมีเวลาแก้ไขปรับปรุง ก่อนเริ่มใช้จริง 27 ก.ย. นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ 'ชิมช็อปใช้' โดยเพิ่มเติมประชาชนที่สนใจลงทะเบียนต้องเป็น 'สัญชาติไทย' เพื่อให้สอดคล้องกับการตรวจสอบข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และเพิ่มเติมการใช้จ่ายผ่าน 'ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ' หรือ 'ค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น' จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบครบวงจร และเพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และให้การใช้จ่ายกระจายไปยังเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น      

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนร้อยละ 15 ของยอดเงินจำนวนที่ใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 27 ก.ย. และจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ตั้งแต่ 23 ก.ย. นี้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการปกครอง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินมาตรการฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) และติดตามความคืบหน้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่ามีประเด็นวิธีการดำเนินมาตรการที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากการดำเนินมาตรการฯ นี้จะเริ่มต้นในวันที่ 27 ก.ย. 2562 จึงจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการดำเนินมาตรการฯ โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้จัดทำระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ และสามารถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจการดำเนินมาตรการฯ อย่างถูกต้อง

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการดำเนินมาตรการฯ โดยมีประเด็นที่จะแก้ไขเพิ่มเติม และเหตุผลของการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ดังนี้

1) เดิม ระบุว่า "ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อเข้าร่วมมาตรการ โดยระบุจังหวัดที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวซึ่งต้องไม่ใช่จังหวัดที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน และต้องลงทะเบียนก่อนเดินทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 วัน" แก้ไขเพิ่มเติม "ประชาชนสัญชาติไทยที่สนใจลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อเข้าร่วมมาตรการ โดยระบุจังหวัดที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวซึ่งต้องไม่ใช่จังหวัดที่ระบุในทะเบียนบ้าน และต้องลงทะเบียนก่อนเดินทางท่องเที่ยวตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด" โดยมีเหตุผลของการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับการตรวจสอบข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

2) ผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ส่วน เพื่อใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เลือก ดังนี้

  • 2.1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 1,000 บาทต่อคน
  • 2.2) กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)

ประเด็นที่จะแก้ไขเพิ่มเติม 

  • 2.1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 1,000 บาทต่อคน
  • 2.2) กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักรวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดเงินชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)

โดยมีเหตุผลของการแก้ไขเพิ่มเติม คือเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบครบวงจร และเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และให้การใช้จ่ายกระจายไปยังเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :