ไม่พบผลการค้นหา
รายงานเสวนาหัวข้อ ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย’ รวม 'ตัวพ่อ/ตัวแม่' แห่งแวดวงสันติวิธีมาพูดถึงการเคลื่อนไหวในยุคนี้
  • การพูดคำหยาบ การท้าท้ายเชิงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องมือของคนที่ไร้อำนาจรัฐจะทำได้ และในขณะเดียวกันมันท้าทายระบบอำนาจวัฒนธรรมไทยอย่างมาก
  • ดึงความเป็นมนุษย์ของคู่ขัดแย้งออกมา โดยไม่สร้างบาดแผลให้อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำเป็น ถึงที่สุดเมื่อสร้างบรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้น จะทำให้ประเด็นหลักและข้อเรียกร้องเกิดการถกเถียงกันมากขึ้น แต่หากประเด็นหลักไม่สามารถถกเถียงกันได้ ประเด็นจะถูกพลิกไปอยู่ด้านล่างและถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศความรุนแรงแทน
  • เพราะรัฐเป็นตัวการในการใช้ความรุนแรง เลยมีคนจำนวนหนึ่งที่ทำงานประเภทนี้ (สันติวิธีของรัฐ) พยายามที่จะไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงไปมากกว่านี้
  • เราจะต้องไม่ทำให้การเคลื่อนไหวแบบไร้ความรุนแรงเป็นเรื่องสูงส่งทางศีลธรรม ที่จะต้องมีเฉพาะผู้เสียสละเท่านั้นถึงจะทำได้ แต่มันเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องทำกันได้ และเราต้องเรียกร้องกับรัฐมากกว่านี้ที่จะต้องสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้ปฏิบัติการของประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบได้รับการคุ้มครองจริง
  • พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริง เป็นพื้นที่การต่อสู้ในสำนึกความนึกคิดของผู้คนโดยกว้าง ดังนั้นคู่ขัดแย้งอาจเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง การดำรงอยู่ของคู่ขัดแย้งอาจจะเป็นประโยชน์เพื่อจะสร้างความรับรู้โดยกว้าง

หลังผู้ชุมนุมฝ่ายก้าวหน้าประกาศข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน การปราบปรามใช้ความรุนแรงจากภาครัฐก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยยะ และดูเหมือนว่า 'สันติวิธี' หรือ 'ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง' ก็ถูกสังคมพูดถึงมากขึ้น จริงๆ แล้วนิยามของคำว่า 'สันติวิธี' คืออะไร? มันยังใช้ในสถานการณ์แบบนี้ได้หรือไม่? และทางออกของความความขัดแย้งที่แท้จริงคืออะไร?

‘วอยซ์’ ชวนอ่านรายงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย’ ซึ่งรวม 'ตัวพ่อ/ตัวแม่' แห่งแวดวงสันติวิธีมาพูดถึงการเคลื่อนไหวในยุคนี้

2 เมษายน 2564 ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย’ ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Direk Jayanama Research Center โดยมีวิทยากรได้แก่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มธ., เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล, สมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ วงสามัญชน, สิรภพ อัตโตหิ กลุ่มเสรีเทยพลัส และภัทรพงษ์ น้อยผาง แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

เสวนาสันติวิธี


‘สันติวิธี’ ไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็นการตั้งคำถามถึงราก

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า นิยามของคำว่า ‘สันติวิธี’ ไม่ได้หมายถึงการประนีประนอม หรือการรักษาบรรยากาศสังคมให้สงบเรียบร้อยอยู่เสมอ และไม่ได้หมายถึงการห้ามพูดคำหยาบ แต่ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้นสามารถตั้งคำถามแบบถอนรากถอนโคนได้ (Radical) เช่นการเสียดสี ทำให้เป็นเรื่องขบขัน ไปจนถึงการใช้คำหยาบ เพราะคำหยาบเป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องมือของผู้ไร้อำนาจสามารถทำได้

“การพูดคำหยาบ การท้าท้ายเชิงวัฒนธรรม มันเป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องมือของคนที่ไร้อำนาจรัฐจะทำได้ และในขณะเดียวกันมันท้าทายระบบอำนาจวัฒนธรรมไทยอย่างมาก” เบญจรัตน์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ยิ่งรัฐปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง ยิ่งทำให้เห็นชัดเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนเคลื่อนไหว ส่งผลให้ผู้มีอำนาจสั่นคลอน หรือกล่าวได้อีกว่า ผู้ชุมนุมสามารถท้าทายความเชื่อบางอย่างในสังคมไทยได้สำเร็จ 

“การเคลื่อนไหวแบบไร้ความรุนแรง ไม่ได้เป็นเรื่องการประนีประนอมเพื่อยอมรักษาความสัมพันธ์ แต่เราใช้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวแบบไม่ได้เผชิญหน้า ไม่ได้จับอาวุธขึ้นสู้ เพื่อที่จะตั้งคำถามกับหลายๆ อย่าง การอดอาหารของเพนกวินกับรุ้ง แสดงให้เห็นแล้วว่า มันมีความพยายามที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในสังคมนี้มากขึ้นเรื่อยๆ” เบญจรัตน์กล่าว

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ วงสามัญชน ยืนยันว่ากรณีผู้ชุมนุมพ่นสเปรย์สีด่า หรือการทำลายรถฉีดน้ำของรัฐ (จีโน่) ยังคงเป็นสันติวิธี เนื่องจากถึงที่สุดผู้ชุมนุมไม่ได้ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ


ดึงความเป็นมนุษย์ฝั่งตรงข้าม สร้างพื้นที่สนทนา

สมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด กล่าวว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ แต่ละฝ่ายจำเป็นที่จะต้องสร้าง 'พื้นที่สนทนา' ให้เกิดขึ้นมา เพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัดหรือความเข้าใจในข้อเรียกร้องนั้นๆ ของทั้งสองฝ่าย ยิ่งข้อเรียกร้องที่แหลมคมและไม่คุ้นเคยต่อสังคม การสร้างพื้นที่สนทนายิ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการคลี่คลายความขัดแย้ง และในระหว่างทางการเคลื่อนไหวต่อสู้มักเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางหรือเรียกว่าเป็น 'กับดักระหว่างการต่อสู้' ที่อาจเกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรืออาจถูกจัดวางไว้เพื่อให้เข้าสู่กับดักนั้น เพราะธรรมชาติของความขัดแย้งมักจะมีผลกระทบที่จะไปสู่การใช้ความรุนแรง

ดังนั้นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงจากรัฐ คือการดึงความเป็นมนุษย์ของคู่ขัดแย้งออกมา โดยไม่สร้างบาดแผลให้อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำเป็น จนทำให้เขาไม่รู้สึกสงสัย ถึงที่สุดเมื่อสร้างบรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้น จะทำให้ประเด็นหลักและข้อเรียกร้องเกิดการถกเถียงกันมากขึ้น แต่หากประเด็นหลักไม่สามารถถกเถียงกันได้ ประเด็นจะถูกพลิกไปอยู่ด้านล่างและถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศความรุนแรงแทน และการเคลื่อนไหวต่อสู้ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เกิดผล จำเป็นต้องลดอุณหภูมิลง

"พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริง เป็นพื้นที่การต่อสู้ในสำนึกความนึกคิดของผู้คนโดยกว้าง ดังนั้นคู่ขัดแย้งอาจเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง การดำรงอยู่ของคู่ขัดแย้งอาจจะเป็นประโยชน์เพื่อจะสร้างความรับรู้โดยกว้าง หากเราเห็นพื้นที่การต่อสู้เป็นเช่นนั้นแล้ว ช่วงเวลาที่เรายังอยู่ในความขัดแย้งนั้น เราจึงต้องใช้ประโยชน์ของสถานการณ์นั้นขยายความรับรู้และเป็นห้วงเวลาของการทำความเข้าใจ ตกผลึก และพัฒนาวิธีคิดในสังคมให้กว้างขวางต่อไป"

ช่วงหนึ่งของเสวนา ชูเวช ตั้งข้อสังเกตถึงพื้นที่การสนทนาของสังคมว่า หลังจากรายการจอมขวัญหายไป พื้นที่ในการสนทนาของคู่ขัดแย้งก็หายไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการคลี่คลายความขัดแย้ง เนื่องจากที่ผ่านมาข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มคณะราษฎร ถูกสื่อมวลชนพาดหัวในลักษณะเพียงแค่รายงานว่าพวกเขาไปชุมนุมที่นั้นๆ เฉยๆ แต่ไม่ได้ปรากฏข้อเรียกร้องในพื้นที่สื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตผู้ชุมนุมมาก เพราะสุดท้ายแล้วคนจะไม่เข้าใจว่าพวกเขากำลังเรียกร้องเรื่องอะไร

แต่สิ่งที่น่าชื่นชมต่อมาก็คือ กรณีกลุ่มนักเรียนเลวสามารถเชิญ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นร่วมเวทีถกเถียงกับทางกลุ่มได้ การเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาอยู่ในพื้นที่การชุมนุมของตนเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มเองด้วย รวมถึงแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมคุยและมีเหตุผล

ภาพจากประชาไท
  • ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการขึ้นเวทีดีเบทร่วมกันกลุ่ม 'นักเรียนเลว' เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 63 ขอบคุณภาพจากประชาไท

สร้างพื้นที่ปลอดภัย = สร้างแนวร่วม

สิรภพ อัตโตหิ กลุ่มเสรีเทยพลัส กล่าวว่า ในพื้นที่การชุมนุมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี 'พื้นที่ปลอดภัย' ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบการชุมนุมใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเมื่อก่อน เช่น ศิลปะ, ละคร หรือม็อบแฮมทาโร่ เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนสามารถส่งเสียงทางการเมืองได้ โดยที่รัฐไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงแล้ว ยังทำให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกปลอดภัยที่จะเจรจา รับฟังหรือทำความเข้าใจเรามากขึ้น

"ถ้าเกิดว่าพื้นที่มันไม่ปลอดภัย แนวร่วมเราก็จะลดลง ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงจิตใจ มันทำลายแนวร่วมได้ ในขณะเดียวกันมันก็ขยายแนวร่วมได้มากขึ้น" สิรภพ กล่าว

"เวลาเราต้องการสร้างแนวร่วมทำให้คนเห็นด้วย เราว่าความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญ คือข้อมูลที่เป็นความจริงมันจะเข้าไปถึงใจคนไม่ได้ ถ้าเราไม่ไปสัมผัสกับหัวใจของเขา ซึ่งถ้าพื้นที่มันไม่ปลอดภัย เราคิดว่าคนมันมีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความรู้สึกของคนมันถูกปิดกั้นด้วยความรู้สึกหวาดกลัว ด้วยความรู้สึกหวาดระแวง แต่ถ้าพื้นที่ที่มันปลอดภัย หัวใจมันจะเปิดกว้างและพร้อมที่จะรับฟังในข้อมูล" สิรภพ กล่าว

แฮมทาโร่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แฟลชม็อบ 50928998781849_1557693290260594218_n.jpg
  • กลุ่มคนรุ่นใหม่รวมตัวกันทำกิจกรรมวิ่งเป็นวงกลม และร้องเพลงแฮมทาโร่ โดยมีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลสอดแทรกในเนื้อเพลง

ถางดินให้เมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่เติบโต

ชูเวสพูดถึงพื้นที่แสดงออกในสถานศึกษาว่า หากพื้นที่เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากทางโรงเรียน และส่งเสริมให้เด็กสามารถแสดงออกทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ เช่นกิจกรรมล้อการเมือง, การทำป้ายผ้าล้อการเมืองในกิจกรรมกีฬาสี โดยไม่ถูกคุกคามจากโรงเรียน หรืออาจถูกคุกคามแต่มีคนมาสนับสนุนการกิจกรรมของเขาต่อ วัฒนธรรมทางการเมืองภาพใหญ่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

อย่าลืมว่าช่วงการชุมนุมที่ผ่านมามีนักปราศรัยเก่งๆ ที่เป็นเด็กต่างจังหวัดจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเราควรจะสร้างนักปราศรัยเหล่านี้ รวมถึงบรรยากาศพื้นที่การแสดงออกที่สถานศึกษาที่ต่างจังหวัด

"จริงๆ แล้วเมื่อบรรยากาศทางการเมืองมันส่ง เขามีเครื่องมือในการลับเคี้ยวเล็บของเขาอยู่แล้ว แต่มักถูกกดด้วยโรงเรียนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอาจจะต้องคิดอย่างจริงจังว่่าจะถางพื้นที่เสรีภาพในโรงเรียนหรือว่าจะมีอะไรที่เป็นหลักประกันให้การลับเคี้ยวเล็บของเขาจะไม่ถูกทำให้กุดตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน" ชูเวสกล่าว


แกะสลักบางตัวออก เพื่อลดความรุนแรงจากภาครัฐ

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เสนอว่า ต้องแกะสลักบางตัวที่ทำแล้วก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหาออกไป และเสนอเรื่อง 'สันติวิธีของรัฐ' ที่เป็นบทบาทขององค์กรที่จะเข้าไปกดดันภาครัฐและปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อไม่ให้ใช้ความรุนแรงมากขึ้นจากเดิมที่เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงอยู่แล้ว เขายกตัวอย่างกรณี กอส. (คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) ภายใต้รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เสนอให้มีกองกำลังชนิดหนึ่งที่ลดปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อว่า ‘สันติเสนา’ เป็นกองกำลังทหารไม่ติดอาวุธ และเปลี่ยนเครื่องแบบ เมื่อเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งทุกคนก็จะทราบทันทีว่าองค์กรนี้ไม่ใช้อาวุธแน่ กรณีนี้อาจไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่สามารถลดความรุนแรงจากภาครัฐได้ เมื่อลดความรุนแรงจากภาครัฐได้ ก็อาจจะลดความรุนแรงที่โต้ตอบกับภาครัฐได้ นำไปสู่การหาช่องว่างในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้อีก

"เพราะรัฐเป็นตัวการในการใช้ความรุนแรง มันก็เลยมีคนจำนวนหนึ่งที่ทำงานประเภทนี้ พยายามที่จะไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงไปมากกว่านี้... เพราะฉะนั้นงานในสาย Non Violence Action ก็เลยเป็นสายที่พยายามเข้าไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับภาครัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐไม่ให้ใช้ความรุนแรง” ชัยวัฒน์ กล่าว

หมายเหตุ : เนื่องจากชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ไม่ได้มาร่วมวงเสวนาดังกล่าว ผู้ดำเนินรายการจึงเปิดคลิปวิดีโอที่เขาฝากไว้มาแทน

ชัยวัฒน์


เรียกร้องจากรัฐให้มากขึ้น ไม่ผลักภาระให้ผู้ชุมนุม

เบญจรัตน์ พูดถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยึดสันติวิธีมาโดยตลอดว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังเรียกร้องการไม่ใช้ความรุนแรงจากรัฐน้อยเกินไป แต่กลับผลักภาระไปที่ผู้ชุมนุมฝ่ายเดียว โดยให้ผู้ชุมนุมต้องควบคุมตัวเองไม่ให้ใช้ความรุนแรง ให้ผู้ชุมนุมต้องไม่ยั่วยุ อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่าไม่ต้องสนใจที่จะจัดการชุมนุมให้เป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแต่อย่างใด แต่จะต้องช่วยกันทำให้สังคมไทยเห็นด้วยกับเรื่องที่ว่า เราสามารถจัดกิจกรรมชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ และต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รัฐจะต้องเคารพ และควรจะถูกสร้างให้เป็นฉันทามติของสังคมโดยที่ไม่ต้องสนใจว่าข้อเรียกร้องคืออะไร

สลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ม็อบ เผด็จการ ตำรวจ สามนิ้ว สิทธิมนุษยชน
  • ตำรวจสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าครั้งที่ 2 หลังแกนนำใช้สันติวิธีขั้นสูงนอนชูสามนิ้วพร้อมยอมให้ลากไป คฝ.คุมพื้นที่และอุ้มไปทั้งหมด

เบญจรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้คู่ขัดแย้งของเราไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือพลเอกประยุทธ์ แต่เป็นชุดความคิดในสังคมที่ต้องการรักษาระบบอำนาจบางอย่างให้ธำรงอยู่ในสังคม

"เราอาจจะผลักดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการ แต่มันยังมีชุดความคิดใหญ่ที่ครอบประเด็นทุกอย่างหมด ที่แตะไม่ได้ พูดไม่ได้ เพราะคนในสังคมไม่ยอมให้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน ทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์ เรื่องคนเท่ากันซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน มันกลายเป็นเรื่องที่เราแตะไม่ได้ในสังคม" เบญจรัตน์ กล่าว

"เราจะต้องไม่ทำให้การเคลื่อนไหวแบบไร้ความรุนแรงเป็นเรื่องสูงส่งทางศีลธรรม ที่จะต้องมีเฉพาะผู้เสียสละเท่านั้นถึงจะทำได้ แต่มันจะเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องทำกันได้ และเราต้องเรียกร้องกับรัฐมากกว่านี้ที่จะต้องสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้ปฏิบัติการของประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบได้รับการคุ้มครองจริง" เบญจรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย


กิตติ พันธภาค
Journalism is not a Crime.
12Article
11Video
0Blog