ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อสินค้าความเชื่อมีรากฐานทั้งจากความศรัทธาและสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม ตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวจึงไม่พอกำหนดคุณค่าและราคาของสินค้า

ในโลกทุนนิยม สรรพสิ่งสามารถอุปโลกน์ขึ้นมาเป็น ‘สินค้า’ ได้ ภายใต้หลักการอุปสงค์และอุปทาน ความต้องการซื้อ ความต้องการขาย ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ซับซ้อนน้อยที่สุด

อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เมื่อมีคนต้องการขายสินค้า ก. และมีคนต้องการซื้อสินค้า ก. ณ ราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายพอใจ รวมทั้งผู้ซื้อมีเงินพอที่จะซื้อ ก็ถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้ว


อาจารย์ คมกฤช

อย่างไรก็ตาม ‘สินค้าความเชื่อ’ ไม่อาจอธิบายด้วยหลักการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ข้างต้นเพียงอย่างเดียวได้ เพราะต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่ลึกลงไปถึงความเชื่อ ความศรัทธา ความนิยมต่อสิ่งเหล่านี้

'วอยซ์ออนไลน์' พูดคุยกับ 'คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง' หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ธุรกิจความเชื่อ’ มากขึ้น


ต้นกำเนิดเครื่องรางของขลัง ความเชื่อ และธุรกิจความเชื่อ

อาจารย์คมกฤช ชี้ว่า แท้จริงแล้วความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่มีคู่กับอารยธรรมมนุษย์มาตลอด เมื่อมนุษย์เริ่มมีศาสนา สิ่งพวกนี้พ่วงมาด้วย ซึ่งมีในทุกภูมิภาคทั่วโลก ความแตกต่างแท้จริงแล้วอยู่ที่หน้าที่ของสิ่งเหล่านั้น เช่น เป็นการให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความสัมพันธ์กับชุมชน

แม้ว่าสภาพสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ศาสนามีความทันสมัยมากขึ้น แต่หน้าที่บางอย่างก็ยังเหลืออยู่ในโลกปัจจุบัน


เครื่องราง

เมื่อย้อนกลับมามองเรื่องความเชื่อในสังคมไทย ความคล้ายคลึงมีให้เห็นโดยชัดเจน คือเครื่องรางของขลังเหล่านี้สังกัดพื้นที่ความเชื่อในศาสนา และก็มีหน้าที่ต่างๆ ของตัวมันที่มีความสัมพันธ์กับชุมชน แม้เวลาต่อมาชุมชนในศาสนาไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว หรือเหลือน้อยลงทุกที ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ เช่น การเข้ามาของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และเทรนด์ของการเป็นปัจเจกนิยม

อย่างไรก็ตาม คนส่วนหนึ่งยังโหยหาความมั่นคงในชีวิตและมองว่าตัวเครื่องรางของขลังยังจำเป็นอยู่

เมื่อทุกสิ่งมาอยู่ในห้วงเวลาที่พอเหมาะพอดีกัน คือมีทั้งความเชื่อดั้งเดิมและโลกแห่งทุนนิยม จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ธุรกิจทางความเชื่อ’ ซึ่งในโลกสมัยใหม่ รวมถึงในสังคมไทย ความเชื่อเกือบจะทั้งหมดกลายเป็นเรื่องของธุรกิจไปแล้ว เกิดนักการตลาดด้านความเชื่อที่พยายามจะสร้างกระแสของวัตถุมงคลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน

เครื่องรางของขลังที่เป็นผลผลิตแห่งโลกทุนนิยมบางส่วนไม่ได้อิงอยู่กับคติศาสนาแบบเดิมอีกต่อไป เป็นเพียงการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยสรรพคุณกล่าวอ้าง กลายเป็นเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อที่มีผลในเชิงพาณิชย์ ในเชิงรายได้ และในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ


“ถามว่าเครื่องรางของขลังเหล่านั้นบางครั้งอิงอยู่กับคติแบบศาสนาเดิมไหม ก็ไม่นะครับ เป็นเพียงการสรรค์สร้างมูลค่าทางการตลาดด้วยเรื่องเล่าเท่านั้น” อาจารย์คมกฤช กล่าว

ความ ‘แพง’ ของ 'ความเชื่อ'

แม้หลักเศรษฐศาสตร์เดิมเรื่องอุปสงค์อุปทานอาจนำมาอธิบายเรื่องการตั้งราคาสินค้าความเชื่อได้ในเบื้องต้น แต่คงไม่อาจเป็นตัวตัดสินได้ว่าสินค้านั้นๆ แพงเกินไปหรือถูกเกินไป อย่างไรก็ตาม หากมองกันในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ด้วยในอดีตสินค้าความเชื่อหรือวัตถุมงคลต่างๆ ไม่ได้ผลิตมาเพื่อคนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นงานฝีมือ ที่ต้องทำกันที่ละชิ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มีไว้จำหน่ายมากมายนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้เพื่อหาเงินเข้าวัด เพียงแค่ไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน


เครื่องราง

แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เอื้อให้การผลิตสินค้าเหล่านี้ในจำนวนมาก และง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่ธุรกิจความเชื่อเหล่านี้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว

หากมองในแง่ธุรกิจ มันก็คือธุรกิจประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร เพียงแต่ความอ่อนไหวของธุรกิจประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่วัดกันด้วยตัวชี้วัดใดๆ ไม่ได้

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหยิบยกกลไกทางการตลาดเข้ามาจับ แล้วบอกว่าสินค้าชนิดนี้แพงเกินไปหรือถูกเกินไป


“ถ้าเรามองระบบความเชื่อบนฐานคิดแบบโลกสมัยใหม่ คุณมีสิทธิ์ที่จะเชื่ออะไรก็ได้ ตราบใดที่ความเชื่อของคุณไม่ได้ละเมิดสิทธิคนอื่นหรือว่า ไม่ได้ผิดกฏหมาย”


อีกทั้ง เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงปรากฎการณ์อย่างหนึ่งของสังคม ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจแบบทุนนิยม ซึ่งจะโทษแต่ฝั่งศาสนาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสองเรื่องนี้มาพร้อมกันและดูเหมือนจะแยกออกจากกันไม่ได้

ดังนั้น หากไม่ต้องการให้มีสิ่งเรานี้ แปลว่าสังคมต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่า สภาพสังคมในเชิงสังคมและในเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงดอกผลของความเปลี่ยนแปลงในสังคมเท่านั้น ส่วนเรื่องการตลาดราคาสูงเป็นความกังวลที่มาจากความต้องการศาสนาบริสุทธิ์ ที่อยากให้ทุกอย่างควบคุมได้และเป็นระเบียบ ซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของโลกในปัจจุบันเท่าไหร่นัก


‘ตะกรุดข้อมือ’ ความเชื่อในการตลาดยุค 4 จี

สำหรับกรณี 'ตะกรุดข้อมือ' ที่กำลังเป็นที่นิยมและราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ.คมกฤช อธิบายว่า แท้จริงแล้วตะกรุดคือ การที่ใช้วัสดุ เช่น โลหะประเภทต่างๆ ทั้งทองแดง ทอง เงิน ตะกั่ว กระดาษ หรือใบไม้ ในการจดจารเลขยันต์ ซึ่งมีทั้งตัวเลข ทั้งตัวหนังสือ รวมถึงยันต์รูปแบบต่างๆ ลงไป แล้วพกติดตัว โดยการพกติดตัวสมัยก่อน เนื่องจากไม่มีวัสดุพวกพลาสติกเหมือนในปัจจุบัน จึงมักใช้วิธีการม้วน ซึ่งอาจมีเชือกเป็นไส้แล้วรักษาด้วยการถักเชือกหุ้ม แล้วนำไปคลุกกับรักเพื่อให้ทนอยู่ได้นาน

สำหรับสาเหตุที่คนโบราณพกตะกรุด เพราะเชื่อว่าตัวเลข ตัวหนังสือเหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อมโยงกับพระพุทธคุณ หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้ เนื่องจากคนโบราณนับถือว่าตัวหนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้เอาไว้เขียนเรื่องสัพเพเหระ แต่เอาไว้จารคัมภีร์ เลยพกสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่อทั้งป้องกันหรือว่ามีอิทธิคุณต่างๆ ตามที่เขาเชื่อ

อีกทั้ง หากย้อนไปดูหลักฐานเก่าๆ จะพบว่า สมัยก่อนไม่นิยมห้อยพระกัน พวกพระเครื่องทั้งหลายส่วนมากนิยมที่จะเอาไว้เป็นการสืบทอดพระศาสนา ฝังไว้ในกรุต่างๆ


ไลลา.png

(ภาพจาก: instagram)

เมื่อหันมามอง ธุรกิจเครื่องประดับตะกรุด อาจารย์คมกฤชมองว่าเป็นเพียงการพัฒนาในเชิงรูปแบบ หากมองภาพรวมก็คือ เครื่องรางของขลังของไทยในแง่หนึ่ง ที่ได้รับการพัฒนารูปแบบข้างนอกให้มันเหมาะกับการตลาดสมัยใหม่ ด้วยการใช้วัสดุที่ดูสวยงามขึ้น ผู้หญิงก็ใช้ได้ ผู้ชายก็ใช้ได้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องการตลาด ในเชิงรูปแบบภายนอกทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คมกฤช ปิดท้ายว่า สำหรับตนมองว่าเครื่องรางของขลังเป็นภูมิปัญญาแบบหนึ่ง ที่มีไว้ในยามที่ต้องการความสงบของจิตใจ หรือไว้ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ว่าในปัจจุบันเครื่องรางของขลังส่วนใหญ่ มักถูกสร้างขึ้นจากกลไกทางการตลาด ซึ่งตนไม่ได้ให้คุณค่ากับเครื่องรางในแง่นั้น


“ถามว่าเชื่อไม่เชื่อ ผมสนใจในแง่ที่มันดำรงภูมิปัญญาแบบไหนไว้มากกว่า ถ้ามันช่วยให้เข้าถึงคุณลักษณะทางจิตใจบางอย่าง ผมก็ยอมรับที่จะเชื่อพวกนั้นได้” คมกฤช กล่าว


เพราะถึงที่สุด ไม่มีใครจะตีค่าได้ว่าธุรกิจความเชื่อเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่ว่าตะกรุดข้อมือที่กำลังเป็นที่นิยมจะมีราคาสูงขึ้นเพียงใด สุดท้ายแล้ว หากผู้บริโภคพึงพอใจที่จะซื้อและมีผู้ขายอยากจะขาย ธุรกิจเหล่านี้ก็จะดำเนินต่อไปเป็นเส้นขนานกับความสงสัยถึงอิทธิคุณของเครื่องรางเหล่านี้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งที่จตุคามรามเทพเคยมีราคาสูงมากเช่นกัน