ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' ผิดหวัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.75 ชี้ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ แนะแบงค์ชาติปรับแนวคิดใหม่ยึดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.75 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะมีผลให้ประชาชนโดยรวมมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า สภาพคล่องในระบบธนาคารยังมีอยู่มาก อีกทั้งไม่ปรากฏการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ โดยเงินทุนสำรองของไทยยังมีอยู่ในระดับที่สูงมากถึงประมาณ 2 แสนล้านเหรียญ และ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ยิ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาอย่างมากและมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับราคาที่ต่ำเป็นระยะเวลานาน เงินเฟ้อจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา จึงไม่มีเหตุผลอันควรที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกทั้ง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนมาตลอด 4 ปีนี้ 

และรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นยังไปกระจุกกับคนบางกลุ่มเท่านั้น คนส่วนใหญ่ยังลำบากกันอย่างมาก การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยิ่งลำบากจากหนี้ภาคครัวเรือนของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้เงินบาทแข็งค่าทันที และ มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกในภาวะสงครามการค้านี้ 

โดยอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานให้เข้ากับสภาวะการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยเพิ่มพลวัต อยากให้ดูตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีระบบการจัดการของธนาคารกลางที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็วทันสถานการณ์ของโลกทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ก้าวกระโดด และ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ถึงขนาดที่อดีตผู้ว่าการธนาคากลางของประเทศสิงคโปร์จะขึ้นมาเป็นทายาททางการเมืองสืบต่อจากนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน

อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยึดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เป็นเป้าหมายหลักทางนโยบายการเงิน มากกว่าจะใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวกำหนดเหมือนในอดีต โดยเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าจะช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ โดยประเทศที่มีค่าเงินที่อ่อนจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น เช่น ประเทศญี่ปุ่นในอดีตสมัยที่ค่าเงินเยนอ่อน หรือ ประเทศจีนที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่ากว่าความเป็นจริง เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง