ไม่พบผลการค้นหา
หลายคน (รวมถึงนักการเมือง) เข้าใจคลาดเคลื่อนหากติดตามข่าวการเมืองปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำไปสู่การมีรัฐบาลผสม แล้วก็กล่าวสรุปไปเลยว่ารัฐบาลผสมจะมีอายุสั้นบ้าง ยาวบ้าง แล้วแต่จะพิเคราะห์กันไป ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อสันนิษฐานที่สอดล้องกับหลักวิชามากนัก

กล่าวคือ หากพูดตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดแล้ว สภาวะ "รัฐบาลผสม" (Coalition government) "โดยตัวมันเอง" ไม่สามารถจะนำมาอธิบายความได้ว่าเพราะ "รูปแบบการก่อตัวของรัฐบาลประเภทนี้" เป็นสาเหตุของการมีอายุการทำหน้าที่ได้นานหรือไม่อย่างไร

กล่าวใหัชัดเจนยิ่งขึ้น ในระบบรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบรัฐสภา (Parliamentary system) การจะพูดถึงอายุการทำงานของรัฐบาลว่าจะมีอายุสั้น หรือยาวนั้นขึ้นอยู่กับ "ความไว้เนื้อเชื่อใจของรัฐสภา" (Confidence of the Parliament) หรือ "ความไว้เนื้อเชื่อใจของฝ่ายนิติบัญญัติ" ในฐานะ "องค์กรต้นกำเนิดของฝ่ายบริหาร" นี่คือแก่นแท้ของระบบรัฐสภา ฉะนั้นแล้ว หากเราจะพูดในเชิงหลักวิชาเกี่ยวกับอายุการทำหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะสั้น หรือจะยาวต้องพิจารณาจากตัวรัฐสภาเป็นหลัก หาใช่ตัวคณะรัฐมนตรี

เมื่อนำหลักการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญข้างต้นมาวิเคราะห์กับการเมืองไทยเราจึงเห็นได้ว่า ตอนนี้หลักใหญ่ใจความอาจไม่ใช่เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล (ผสม) ได้หรือไม่อย่างไร อายุจะสั้นหรือจะยาว หากแต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่กำลังเกิดสภาวะที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่า "สภาแขวน" หรือ "Hung Parliament" ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภา (ผู้แทนราษฎร) ต่างหาก อันจะส่งผลให้เกิด "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล (ผสม) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเพราะรัฐบาล (เสี่ยง) จะไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่บริหารประเทศ และนี่คือประเด็นหลักในการชี้ขาดอายุของรัฐบาลว่าจะสั้น หรือจะยาวนั่นเองครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ
0Article
0Video
0Blog