อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ก.ย. 2563 รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน โดยหวังให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติโดยเร็ว ผ่านโครงการต่างๆ เพิ่มติม ดังนี้
1.'โครงการคนละครึ่ง' เป็นการร่วมจ่าย (Co-pay) ระหว่างประชาชนที่เข้าร่วมโครงการและรัฐบาล โดยจะสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการเป็นประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 10 ล้านคน ภาครัฐจะสนับสนุนโดยร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าทั่วไป ไม่รวมสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบและบริการต่าง ๆ 50% ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ผ่านแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' สำหรับประชาชน และแอปพลิเคชัน 'ถุงเงิน' สำหรับร้านค้า
มีระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน คือตั้งแต่ 1 ต.ค.- 31 ธ.ค. 2563 โดยมีวงเงินจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 10 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีขยายตัว 0.18%
2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ 'ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้า จำนวน 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (โดยเดือนแรกเงินจะเข้าบัตรประมาณวันที่ 15 ต.ค. ส่วนเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะเข้าวันที่ 1 ของเดือน)
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13,948,518 คน ใช้วงเงิน 20,922 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. - ธ.ค. 2563 เนื่องจากกลุ่มผู้มีบัตรฯ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีรายได้ลดลงและไม่สามารถหารายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ โครงการ ฯ จะทำให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 13,948,518 คนได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา เพิ่มกำลังซื้อ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น รวมทั้งยังก่อให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่นผ่านร้านธงฟ้าฯ
"สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคเพิ่มเป็นเดือนละ 800 บาท จากเดิมได้รับเดือนละ 300 บาท ส่วนผู้ถือบัตรฯ ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 700 บาท จากเดิม 200 บาท ในระยะช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2563" อนุชา กล่าว
3.ปรับปรุงคุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ จากเดิม "มีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม" เป็น "มีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้นกรณีผู้จบการศึกษาใหม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากการทำงานนอกเวลาเรียน (Part time) ในระหว่างที่กำลังศึกษา"
เนื่องจากเพื่อช่วยให้นักศึกษาที่มีฐานะยากจน ยังไม่จบการศึกษาและต้องหารายได้พิเศษโดยทำงานนอกเวลาเรียน หรือ Part time ที่มีชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมสามารถเข้าร่วมโครงการได้ เกิดการจ้างงานตามเป้าหมายที่กำหนด
4.โครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจาก โควิด-19 (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2563) อนุมัติโครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินรวม 878.20 ล้านบาท
ผู้ประกอบการเริ่มลงทะเบียนร่วมโครงการ 'คนละครึ่ง' 1 ต.ค. ประชาชน 16 ต.ค.
กาญจนา ตั้งปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับโครงการคนละครึ่ง จะเปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ WWW.คนละครึ่ง.com และธนาคารกรุงไทย สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้
ส่วนประชาชนที่สนใจร่วมโครงการต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่ 16 ต.ค. นี้ ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. ทุกวัน จนกว่าจะครบ 10 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วันหลังได้รับการยืนยันเข้าร่วมโครงการ จะถูกตัดสิทธิ เพื่อนำสิทธิดังกล่าวให้ผู้ลงทะเบียนรายถัดไป
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีร้านค้าที่ดำเนินการโดยบุคคลธรรมดาในระบบแอปพลิเคชัน 'ถุงเงิน' จำนวน 120,000 ราย ส่วนร้านค้าที่เคยร่วมโครงการชิมช้อปใช้และเราเที่ยวด้วยกันอีก 200,000 ราย ซึ่งร้านค้าที่เคยรวมใน 2 โครงการก่อนหน้า สามารถร่วมโครงการคนละครึ่งได้ หากเป็นบุคคลธรรมดา แต่ต้องเข้าไปกดในแอปฯ ถุงเงิน เพื่อยืนยันเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังไม่รวมร้านค้าออนไลน์
เฉลิม ประดิษฐอาชีพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยได้เตรียมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าไปเปิดบัญชีธนาคารให้ร้านค้าร้านอาหารรายย่อย และยืนยันว่า การเปิดบัญชีใหม่ไม่ต้องมีจำนวนขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการที่เปิดบัญชีกรุงไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: