ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ภรป.) ร่วมกับกลุ่มสันติประชาธิปไตย และสถาบันปรีดีพนมยงค์ ชวน 5 ส.ว. อาทิ ดร.สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์, คำนูญ สิทธิสมาน, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, เฉลิมชัย เฟื่องคอน, มณเฑียร บุญตัน ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย’ ในช่วงนับถอยหลังการเลือกตั้ง และแสดงจุดยืนพร้อมเผยเกณฑ์การเลือกโหวตนายกฯ โดยมี เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และ ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.สถิต กล่าวถึงข้อสงสัยต่อกลุ่ม ส.ว.สรรหา มีที่มาจากเจตจำนงค์ประชาชนหรือไม่ ซึ่งบางส่วนมองว่าไม่ได้มาจากระบบเลือกตั้ง บางส่วนก็เห็นว่ามาจากการลงประชามติแล้ว ซึ่งก็แล้วแต่มุมมอง แต่ถ้ามองข้ามที่มาของ ส.ว.แล้ว จะเห็นว่า ส.ว.นั้นยังมีอีกบทบาทสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ คือการร่วมพิจารณากฎหมายหลายฉบับ
“ใน รธน.มีบทบัญญัติพิเศษ ว่าหากมีการเสนอกฏหมายปฏิรูปประเทศ ส.ว.มีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ส่วนบทบาทการบริหารราชการแผ่นดิน ส.ว.ยังมีบทบาทในการตั้งกระทู้ถามไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง เพื่อติดตามในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย เพื่อคานอำนาจของฝ่าย ส.ส.และฝ่ายบริหาร”
นอกจากนี้ ส.ว.ยังมีหน้าที่ผลักดันในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปในหลายเรื่อง เช่น ส.ว.มีการลงพื้นที่พบประชาชน เพื่อส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงการผลักดันให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ นี่คือบทบาทที่ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง
“ไม่ว่าจะมอง ส.ว.มีที่มาอย่างไร หลักการของที่มาและหลักการทำประโยชน์ อาจจะแยกออกจากกันได้ บางท่านบอกว่าผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้เป็นพิษ แล้วมีการนำไปใช้ในทางการเมือง ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป”
สำหรับเกณฑ์การเลือกนายกฯนั้น ส่วนตัวมองว่านายกฯ ต้องมีวิสัยทัศน์ และกล้าหาญตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องการศึกษา ความมั่นคง รวมถึงหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะโหวตให้ใครเป็นนายกฯ ขอรอดูจากผลการเลือกครั้งนี้ไปก่อน
ขณะที่ ‘คำนูญ’ สะท้อนมุมมองส่วนตัวว่าสิ่งที่ทำให้เข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. เพราะที่ผ่านมาตนสนใจอยากเข้าไปทำงานในสถานะ ส.ส. ทว่าตนไม่ได้มีปัจจัยสนับสนุนทั้งในเรื่องทุนและมีฐานเสียงจากบ้านใหญ่ อย่างไรก็ดี รธน. 60 ทำให้เกิดสภาที่ 2 คือการทำให้การทำงานของในฝ่ายนิติบัญญัติสมบูรณ์ขึ้น
เช่นเดียวกับ 20 ปีที่แล้ว มีการบัญญัติใน รธน. ให้เกิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเปิดพื้นที่ให้บุคคลที่เขาพร้อมเป็น ส.ส.แต่ไม่ถนัดการลงพื้นที่ นี่คือวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งมี ส.ว.หลายคนที่เข้ามา เพราะไม่อยากเข้าสังกัดพรรคไหน และ รธน.เองก็ไม่ทิ้งคนที่มีความสามารถไว้ข้างหลัง จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการเกิดสภาที่ 2
ดังนั้นสภาที่ 2 เป็นเสมือนหน่วยงานที่คอยเบรคหรือชะลอกฎหมายบางฉบับที่ไม่สมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งในการดำเนินการระหว่างประเทศ โครงสร้างของบ้านเมืองที่มีรัฐบาลและมี ส.ส.-ส.ว. จะทำให้ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศดีขึ้น ในบางโอกาสและบางจังหวะ
“พวกผมถูกประณามมากที่สุดคือการเลือกนายกฯ ความเห็นของผมคือไม่ควรมีอำนาจโหวตนายกฯ ที่ผมเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมเห็นว่าการปฏิรูปประเทศประเทศจำเป็นต้องให้คนที่อยู่มาก่อน ทว่าตั้งแต่ปี 2564 ผมผิดหวังกับการปฏิรูปประเทศ”
ในส่วนการเรียกร้องให้ปิดสวิซต์ ส.ว.นั้น ตนจะบอกว่า ส.ส.สามารถปิดสวิตซ์ได้เลย ถ้า ส.ส.รวมได้ 376 เสียง ซึ่งเสียงของ ส.ว.ก็จะไม่มีความหมายเลย โดยไม่ต้องผ่านการแก้ รธน. ดังนั้นทางออกคือพรรคการเมืองควรจะทำสัตยาบรรณทั้งหมดว่าจะสนับสนุนฝ่ายเสียงข้างมากเป็นนายกฯ และการพิจารณาจะโหวตนายกฯนั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเลือกใคร เพราะต้องรอดูตัวแคนดิเดตนายกฯและนโยบายจากพรรคที่เสนอมา
‘กิตติศักดิ์’ กล่าวว่าประชาธิปไตยในโลกนี้มีหลายแบบ ไม่ว่าจะครึ่งใบหรือเต็มใบ แต่ก็เห็นว่าอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบ ก็ยังเกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งประเทศไทยเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆนั้นดีที่สุดแล้ว สำหรับเสียงทักท้วงที่บอกว่ามี ส.ว.ไว้ทำไม แต่ในฐานะที่ตนมาปฏิบัติหน้าที่ ทุกคนก็ทำเต็มความสามารถ อยากเรียนให้ประชาชนทราบว่า นอกจากทำหน้าที่ในสภาฯ ทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย ส.ว.ยังมีพื้นที่ในการพบปะประชาชน ทำงานแบบปิดทองหลังพระ โดยไม่จำเป็นต้องออกมาออกสื่อประชาสัมพันธ์ผลงาน
“เราในฐานะที่เป็น ส.ว. โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด การเลือกตั้งครั้งนี้หนักใจมากในเรื่องมีการซื้อเสียงมากที่สุด การที่นักการเมืองลงทุนไปแล้ว พอเป็นรัฐบาลเขาจะถอนทุนคืนหรือไม่ ไม่ว่า ส.ว.จะเลือกใครความขัดแย้งไม่มีทางหาย นอกจากจะไม่จบสิ้นแล้ว และอาจจะขัดแย้งมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มี 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอดีตฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ความขัดแย้งของคนไทยมีแน่นอน ตรงนี้ ส.ว.ก็อยากจะช่วยแก้ไขให้ได้มากที่สุด”
ทั้งนี่ ‘กิตติศักดิ์’ ยืนยันว่าถ้าพรรคการเมืองสามารถรวบรวมได้ถึง 376 เสียง ส.ว.ไม่มีมีทางสวนกระแส และไม่ต้องกังวลว่า ส.ว.จะไปโหวตให้ฝ่ายเสียงข้างน้อย ในส่วนข้อสงสัยที่ว่า ส.ว.ตั้งธงเลือกสองลุงนั้นก็คงไม่ถูกต้อง ส่วนตัวจึงขอเวลาดูก่อนว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร และไม่มีทางโหวตให้ฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยแน่นอน
“รัฐบาลเสียงข้างน้อยมันไม่สง่างาม แต่รัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ผมบอกเลยอายุไม่ยืนหรอก เพราะหลายคนบอกว่าต้องการเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ถ้าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 กิตติศักดิ์ยืนยันว่าไม่ขัดข้อง และยอมรับว่าไม่ใช่คนเอาดีใส่ตัว และสนับสนุนให้มี มาตรา 272 ที่เหมือนดาบเล่มหนึ่งที่จะใช้ได้ในยามที่จำเป็น ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะสนับสนุนสองลุง และขออธิฐานให้การเลือกตั้งผ่านด้วยดี ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งเหมือนหนังม้วนเดิมอย่างปี 2557”
ต่อคำถามสำคัญคือการเรียกร้องจิตสำนึกจาก ส.ว. ‘เฉลิมชัย’ ย้ำว่าบทบาทของ ส.ว.ที่ให้โหวตนายกฯนั้น จริงๆเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาพวกตนถูกด่าว่าไม่ได้มาจากเลือกตั้ง แล้วมีสิทธิอะไรทำไมถึงไปเลือกนายกฯได้ ตนเป็นหนึ่งคนที่ไม่สนับสนุนในเรื่องการให้ ส.ว.โหวตนายกฯ แล้วมีคนถามว่าครั้งแรกทำไมเอา เพราะตอนนั้นมันมี ม.44 ถ้าไม่เอาด้วยรุ่งเช้าทหารไปล้อมบ้านตนจะทำยังไง
ในส่วนเรื่องจะโหวตใครหลังเลือกตั้ง ส่วนตัวต้องดูจากนโยบายของพรรคการเมือง ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีหนี้ 10 ล้านล้าน ตนเป็น ส.ว.มา 4 ปี ก็เห็นกู้ทุกปี ดังนั้นต้องดูที่นโยบายว่าจะแก้ปัญหาประชาชนอย่างไร ประกอบกับการพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ และทีมเศรษฐกิจ และนโนยบายที่เสนอไปเคยทำสำเร็จหรือไม่ ประกาศมาแล้วจะทำได้ไหม ถ้าไม่ทำก็คือหลอกหลวงประชาชน
“ผมต้องเอาพรรคการเมืองที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แล้วอย่ามาหวังนะรวมเสียงแล้วได้ 320 เสียง เดี๋ยว ส.ว.ที่มีจิตสำนึกก็โหวตให้ การเมืองไม่มีใครมีจิตสำนึก อย่ามาหวังในเสียงของ ส.ว. ไม่ต้องมาบอกว่าต้องมีจิตสำนัก เพราะคนเล่นการเมืองทุกคนเข้ามาก็อยากได้ตำแหน่ง”
สำหรับการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น ขอพูดตรงๆว่า ส.ว.มาจาก คสช. ฝากบอกพรรคการเมืองว่าอย่ามาคาดหวังเสียงจาก ส.ว.ขอให้ไปรวม 376 เสียงมาให้ได้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นด้วยว่าบางมาตราจำเป็นต้องแก้ไขโดยเฉพาะเรื่องอำนาจโหวตนายกฯ และการให้อำนาจองค์กรอิสระ
ทั้งนี้ ‘มณเทียร’ เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่แสดงจุดยืน ‘ของดออกเสียง’ ในการโหวตนายกฯ เนื่องจากเห็นว่าไม่ว่าจะเลือกใครก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จึงมีความจำเป็นต้องสงวนท่าที พร้อมเล่าจุดเปลี่ยนที่มาเป็น ส.ว. เริ่มต้นในช่วงปี 48 ที่เขามองว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนมันล้มเหลว และไม่สามารถรักษาประชาธิปไตยได้ เพราะไปตีโจทย์ว่าต้องทำงานเพื่อเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น แต่มองไม่เห็นเสียงส่วนน้อย
ซึ่ง มณเฑียร เล่าว่าเหตุผลในการเลือกโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2562 เพราะมีแนวคิดที่เหมือนกับคำนูญ เนื่องจากเห็นว่าควรส่งต่อการปฏิรูปประเทศให้กับนายกฯคนเดิม เพื่อให้การทำงานเดินไปข้างหน้า และเขาเป็นหนึ่งคนที่คัดค้านการให้อำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯมาโดยตลอด
“ผมโหวตตัดอำนาจนายกฯ เพราะเราไม่เห็นประโยชน์อะไรอีกแล้ว” มณเฑียรกล่าว