สำนักข่าวเคียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดคำ 'โสดตลอดชีพ' (lifelong single) เพื่อเรียกประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่ยังไม่แต่งงาน เพื่อให้สะดวกต่อการจัดทำสำมะโนประชากรและเก็บข้อมูลสถาบันครอบครัว
เป้าหมายดั้งเดิมของการใช้คำว่า 'โสดตลอดชีพ' เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้อยู่ในช่วงอายุที่เกินไปจากค่าเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นที่แต่งงานสร้างครอบครัวหรือกลุ่มคนที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่ผลสำรวจช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าชายและหญิงชาวญี่ปุ่นแต่งงานหลังอายุ 50 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของ Zwei บริษัทหาคู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ยังได้แสดงความเห็นผ่านสำนักข่าวเคียวโดด้วยว่า การกำหนดสถานะ 'โสดตลอดชีพ' และแนวความคิดว่าคนอายุเกิน 50 ปีนั้น 'พ้นวัย' ที่จะสามารถแต่งงานได้ เป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ โดยอ้างอิงผู้ลงทะเบียนใช้บริการจัดหาคู่ของบริษัท มีจำนวนมากว่า 300 รายที่อายุเกิน 50 ปีไปแล้ว โดยคนกลุ่มนี้ยังสนใจที่จะแต่งงาน และเป็นคนละกลุ่มกับผู้ที่กลับมา 'โสด' เพราะการหย่าร้างหรือคู่สมรสเสียชีวิต
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า ประชากรทั้งชายและหญิงแต่งงานช้าลงเรื่อยๆ โดยสถิติเมื่อปี 1985 บ่งชี้ว่า ประชากรไม่ถึงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ยังไม่ได้แต่งงานเมื่อมีอายุ 50 ปี แต่ในปี 2010 ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานในวัย 50 ปี เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นร้อยละ 20 และผู้หญิงร้อยละ 10 จนกระทั่งปี 2015 พบว่าอายุเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจแต่งงาน อยู่ที่ 31.1 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 29.4 ปี
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสำมะโนประชากรของญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนคำเรียกผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงานก่อนอายุ 50 ปีเสียใหม่ จากคำว่า 'โสดตลอดชีพ' เป็น 'บุคคลอายุ 50 ปีที่ยังไม่แต่งงาน' แทน แต่เอกสารบางประเภทของทางราชการจะใช้ทั้งสองคำ
Photo by Alessio Ferretti on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: