ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจ 'คลองโอ่งอ่าง' ผลงานจากยุค 'อัศวิน ขวัญเมือง' ถึงยุค 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' เมื่อจากนี้คง 'ไม่สามารถเอางบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกสัปดาห์ได้'

หลัง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย (เมื่อ 3 ม.ค.2566) ถึงแนวคิดในการพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ว่า ต้องเป็นตลาดที่อยู่ได้ด้วยเนื้อหาของตัวมันเอง ที่ชุมชนช่วยกันดูแล สร้างสินค้า สร้างกิจกรรม ที่ดึงดูดคนเข้าไปได้ เนื่องจากคงไม่สามารถเอางบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกสัปดาห์ได้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ เข้าไปดูแล้วนั้น

ได้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาอีกมากมายหลายมุม อาทิ เสียดายคลองสวยๆ เป็นต้นแบบที่ควรสานต่อให้มีแบบนี้เพิ่มอีกหลายๆ ที่ การพัฒนาท้องถิ่นไม่ควรคิดถึงกำไรเป็นตัวตั้ง

คลองโอ่งอ่าง สะพานหัน

ขณะที่ความคิดเห็นอีกฝั่งมองว่า คลองโอ่งอ่าง มันเป็นกระแสแค่ช่วงแรกๆ เท่านั้น สุดท้ายคนขายอยู่ไม่ได้ คนเที่ยวก็ไม่ไป แต่งบบานปลายเอาเงินไปจม

"วอยซ์" สอบถามผู้ค้าร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม ของทานเล่น บริเวณใกล้สะพานหัน ซึ่งเปิดร้านตลอดทั้งวัน ยอมรับว่าทุกวันนี้คนมาเดินน้อยลงไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน ช่วงที่มีอีเวนต์ อาจมีร้านค้ามาลงทุนแต่เมื่อขายไม่ได้เขาก็คงไม่มาอีกมีทั้งมองว่าหลายๆ ที่หลายๆ ย่านก็มีการจัดอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นเยาวราช ตลาดพลู ขณะที่คลองโอ่งอ่างมีบรรยากาศเหมือนเป็นทางผ่านมากกว่าโดยคนจะเดินผ่านจากถนนจักรเพชรไปยังสำเพ็ง หรือจากสำเพ็งไปพาหุรัด

คลองโอ่งอ่าง

สอดคล้องกับความเห็นจากโซเชียลมีเดียบางราย ที่มองว่า รอบๆ คลองโอ่งอ่าง มีความเป็น "สถานที่ท่องเที่ยวครบวงจร" ซึ่งหมายถึง ที่เที่ยวไปที่เดียวจบ ในที่นี้คือ กลางวัน-สำเพ็ง ตลาดเยาวราช-พาหุรัด กลางคืน สตรีทฟู้ดเยาวราช นำมาสู่คำถามว่าคนจะไปคลองโอ่งอ่างทำไม

สำหรับคลองโอ่งอ่างโฉมปัจจุบัน หรือเรียกว่าเวอร์ชั่น “ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง” ที่กรุงเทพมหานคร (ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) และภาคเอกชนร่วมมือกันพัฒนานั้น มีพื้นที่ทำการค้าอย่างมีระเบียบ และปลอดภัย ในรูปแบบ “ถนนคนเดิน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับประชาชน ในการส่งเสริมการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่คลองโอ่งอ่าง

จนต่อมาสามารถคว้ารางวัลต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือ 2020 Asian Town Scape Awards จาก UN-Habitat Fukuoka ที่แสดงถึงพัฒนาการที่ดี ของการทำงานปรับปรุงคูคลอง ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากทาง กทม.

แม้กระนั้นก็ยังนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปรับภูมิทัศน์ของทางเดินเลียบคลองเพียง 750 เมตร (รวมเป็น 1.5 กิโลเมตร) ว่าเป็นความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอาจจะฟังดูไม่ถูกต้องนัก เพราะในกรุงเทพฯ เรามีคูคลองมากกว่า 1,600 เส้น รวมความยาวมากกว่า 2,600 กิโลเมตร และการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างเพื่อจุดประสงค์การท่องเที่ยวอย่างชัดเจน โดยจัดให้มีสตรีทอาร์ต ดนตรีสด และตลาดนัดขายของที่ไม่มีอัตลักษณ์ใดๆ เจตนารมย์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กทม. และภาครัฐไม่ได้มีความพยายามที่จะปรับภูมิทัศน์หรือพัฒนาเมืองเพื่อคนอยู่อาศัยอย่างแท้จริง แต่มุ่งพัฒนาเมืองในทุกมิติเพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว (สิรินยา วัฒนสุขชัย, The Momentum)

จึงย้อนกลับมาสู่คำถามว่า แล้ว 'อัตลักษณ์' ของคลองโอ่งอ่างอยู่ตรงไหน เพื่อจะที่จะเป็นตลาดที่อยู่ได้ด้วยเนื้อหาของตัวมันเอง?

เรื่องและภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

คลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่าง คลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่าง ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่างคลองโอ่งอ่าง สะพานหัน

คลองโอ่งอ่าง อัศวิน


เสกสรร โรจนเมธากุล
ผู้สื่อข่าวภาพ Voice Online
6Article
0Video
0Blog