ไม่พบผลการค้นหา
15 ปีก่อน กฎหมายสุราได้กำหนดเวลาขาย-ห้ามโฆษณา แต่วันนี้กำลังจะกำหนดเวลาดื่มแล้ว เรียกได้ว่า ‘สุรายิ่งก้าวหน้า ควบคุมยิ่งก้าวล้ำ’

สงสัยกันไหมทำไมแค่โพสต์ถึงเบียร์หรือพูดถึงเหล้าผ่านสื่อต่างๆ ก็เจอปัญหาทางกฎหมาย ล่าสุด ปัญหานี้เกิดขึ้นกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่แนะนำ ‘ยี่ห้อสุราชุมชน’ ของแต่ละจังหวัด ผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ หลัง ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ ถามว่า “สุราก้าวหน้ามีอะไรน่าสนใจ?”

เรื่องนี้กลายเป็นไวรัล และถูกร้องเรียนโดย ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมไทย โดยอ้างมาตรา 32 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551ซึ่งบัญญัติว่า

“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ”

กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 43 คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ผู้ฝ่าฝืนยังต้องโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง


รากเหง้าปัญหา

‘วอยซ์’ พาทำความรู้จักเนื้อในกฎหมายควบคุมเหล้าเบียร์ปี 2551 ว่ามีรากเหง้ามาจากอะไร และมีความคลุมเครืออย่างไร ทำไมในสายตาผู้ผลิตรายย่อยจึงมองว่า ‘พิลึก-ล้าหลัง’ โดยหน่วยงานที่บังคับใช้คือ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ย้อนไปหลังการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 ภายใต้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2551 มีการคลอดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ว่า

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดชนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องใช้พระราชบัญญัตินี้”


เกิดอะไรขึ้นหลังประกาศใช้

หลังผ่านไปกว่า 10 ปี ตลาดแอลกอฮอล์ในประเทศไทยเติบโตมากขึ้นจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ต่างปล่อยผลิตภัณฑ์ออกมา แต่ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายที่ร่างขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้ขยายตลาดได้ยากเพราะมาตรา 32 ห้ามการห้ามโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยตัวอย่างการใช้มาตรา 32 ดำเนินคดี มีดังนี้

  •  ปี 2562 ‘ลุงยาว’ เจ้าของร้านลาบ ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 32 และสั่งปรับ 50,000 บาท จากกรณีติดสื่อโฆษณาเครื่องดื่มภายในร้าน
  • ปี 2563 แอดมินเพจประชาชนเบียร์ ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์รีวิวบนเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับเครื่องดื่ม ตั้งแต่ ต.ค. 63 - ก.ค. 64 รวมทั้งหมด 15 กรรม (15 โพสต์) มีค่าปรับกรรมละ 50,000 บาท รวม 750,000 บาท
  • ปี 2563 แอดมินเพจแดกเบียร์ให้เพลียแคม ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์รีวิวที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน ปรับ 200,000 บาท และมีค่าปรับรายวันอีกวันละ 5,000 บาท
  • ปี 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แนะนำสุราชุมชน ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ถูกแจ้งดำเนินคดีมาตรา 32

หากดูอัตราค่าปรับแล้วพบว่า หากเป็นประชาชนจะเริ่มต้นปรับที่ 50,000 บาท เว้นแต่กรณีเป็นผู้ผลิตจะถูกปรับที่ 500,000 บาท


รางวัลชี้เป้าจับ

มีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่อง คือหลักเกณฑ์การจ่าย ‘เงินสินบน’ ให้ ‘ผู้แจ้งความนำจับ’ ตามระเบียบกรมควบคุมโรค เพื่อจ่ายเงินแก่บุคคลที่แจ้งเบาะแสที่เข้าเงื่อนไขการกระทำผิด จนทางราชการสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ แต่ผู้แจ้งนำจับต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้จับหรือ ข้าราชการ

เท่ากับว่า ‘ประชาชน’ สามารถแจ้งต่อผู้รับแจ้ง ตั้งแต่ระดับอธิบดี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการ สคอ. รวมถึงข้าราชการใน สคอ. โดยทำหนังสือลงชื่อ นามสกุล ที่อยู่จริงที่สามารถติดต่อได้ เพื่อรับเงินสินบนนำจับ

ในส่วน ‘เงินรางวัล’ เพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับ ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบจับกุม จากพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้รับเงิน 2 ใน 4 ส่วนของเงินรางวัล รวมถึงผู้สั่งการวางแผนให้จับกุม จะได้รับเงินรางวัล 1 ใน 4 ของเงินรางวัล

โดยการหักค่าปรับนั้นจะแบ่งเป็น 2 กรณี 1.หากมีการจับกุมผู้กระทำผิดให้หักค่าปรับร้อยละ 80 ของค่าปรับที่ได้รับ  2.หากไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดให้หักค่าปรับร้อยละ 60 ของค่าปรับที่ได้รับ

เท่ากับว่าหากมีการเรียกปรับ 50,000 บาท จะมีการหักค่าปรับไว้เป็นส่วนเงินสินบน สำหรับผู้แจ้งความนำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน จำนวน 40,000 บาท และหักเข้าภาครัฐเพียง 10,000 บาท


ร่างกฎหมายคู่ขนาน ‘ประชาชนปลดล็อค- รัฐควบคุม’

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการรวบรวมรายชื่อประชาชน 11,169 คน เสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ…. ของภาคประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 17 มี.ค.2564 โดยมุ่งไปที่การเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการรายย่อยในสัดส่วนที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกมาตรการต่างๆ และลดอำนาจ สคอ. ปลดล็อคเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นทั้งเรื่องสถานที่ เวลา และวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  

ในส่วนมาตรา 32 ร่างประชาชนเสนอให้โฆษณาได้แต่ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ พร้อมปรับบทลงโทษการฝ่าฝืนมาตรา 32 ให้สมเหตุสมผล ทว่าร่างกฎหมายดังกล่าวกลับถูกตีตกในการพิจารณาวาระ 3

ขณะที่ฝ่ายราชการอย่าง สคอ.ก็เดินหน้าที่จัดทำร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-16 มิ.ย. 2566 โดยพบว่าประเด็นที่รับฟังความเห็น มีคำถามที่น่าสนใจ อาทิ  

  • สมควรกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่
  • สมควรกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ได้ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องรับผิดหรือไม่
  • สมควรกำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
  • สมควรกำหนดโทษปรับเป็นไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือไม่

อ้างอิง

https://ilaw.or.th/node/5904

http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/feedback1.php?fbclid=IwAR3v3qeSWC7kwpmEHUXB5lOhiQG6QkZbeOFRsxNdthWlO7GxlJXU8M50lN8

https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/c74d97b01eae257e44aa9d5bade97baf/files/lawalc/001_1alc.PDF

https://www.facebook.com/watch/?ref=search&v=157180834006843&external_log_id=2c2c3a62-1629-40b8-b7dd-2a921c83dcaa&q=%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%A1%20Voice%20tv