กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว กรณีพายุโซนร้อน ปาบึก” ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว, ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ และติดตาม/รายงานสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว/นักท่องเที่ยว กรณีพายุโซนร้อน ปาบึก โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว(Tourist Assistance Center : TAC) และตำรวจท่องเที่ยว ทำหน้าที่ให้ข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ โทรศัพท์ : 02 356 0662 , 02 356 0688 มือถือ 065 5041 484 โทรสาร : 02 356 0655
นายสันติ ป่าหวาย รองปลัดฯ และโฆษกกระทรวง ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ เปิดเผยว่าการจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณาการงานร่วมกันกับในพื้นที่ ทั้งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตำรวจท่องเที่ยว ช่วยดูแลและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือและดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเต็มความสามารถ
สธ.จัดเจ้าหน้าที่ เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน-ย้ายผู้ป่วยติดเตียงจากพื้นที่เสี่ยง
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง และประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับผู้บริหาร 16 จังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” พร้อมติดตามสถานการณ์และการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้บริหารใน 16 จังหวัด ที่จะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ พังงา และภูเก็ต ได้กำชับให้จัดแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำศูนย์อพยพเพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชน สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การป้องกันควบคุมโรค เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปากและโรคหัดในเด็ก รวมทั้งย้ายกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมายังจุดที่ปลอดภัยเช่นที่ศูนย์อพยพหรือโรงพยาบาล ดูแลเจ้าหน้าที่ขนย้ายของสำคัญที่บ้านไว้ในที่สูงและจัดที่พักที่ปลอดภัย เพื่อลดความกังวล มีกำลังใจปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมระบบสื่อสาร ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 เพิ่มเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน
สำหรับพื้นที่เสี่ยงเช่น นครศรีธรรมราช ซึ่งพายุปาบึกเคลื่อนผ่านในวันนี้ ได้ดำเนินการตามแผนที่เตรียมไว้แล้ว ทั้งการป้องกันอาคารสถานที่ สำรองยา อาหาร น้ำ ออกซิเจน เครื่องปั่นไฟ แผนการรับส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งจัดแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปประจำศูนย์อพยพ 31 แห่ง ย้ายผู้ป่วยติดเตียงมาดูแลที่ศูนย์อพยพหรือที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ เช่น รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.ปากพนัง รพ.สิชล รพ.ขนอม ย้ายผู้ป่วยจากรพ.เฉลิมพระเกียรติไปรักษาต่อที่รพ.เชียรใหญ่ และได้รับรายงานเมื่อเวลา 14.00 น. มีน้ำท่วมทางเข้ารพ.ปากพนังสูงประมาณ 1 เมตร ได้ส่งผู้ป่วยหนัก 8 รายไปรักษาต่อที่รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และรพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เสาไฟฟ้าหัก ทำให้ไฟฟ้าดับ ใช้เครื่องปั่นไฟสำรอง เปิดให้บริการได้ ได้เปิดศูนย์พักพิงดูแลผู้ป่วยและญาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประมาณ 100 คน สำรองเตียงผู้ป่วย 50 เตียง และไอซียู 8 เตียง
นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อพยพผู้ป่วยติดเตียงจากหมู่บ้านชายทะเลมาพักที่ศูนย์ผู้ป่วยติดเตียง ที่รพ.บางสะพานน้อย รพ.ทับสะแก และโรงเรียนบางสะพานวิทยา ย้ายผู้ป่วยหนัก 10 คนจากรพ.บางสะพาน มีรพ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นแม่ข่ายในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ และเปิดโรงพยาบาลสนามที่โรงเรียนบางสะพานวิทยา โดยมีทีมมินิ-เมิร์ท จากรพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี รพ.กระทุ่มแบน รพ.สมุทรสงครามมาสนับสนุน พร้อมเครื่องมือแพทย์ และเตียงสังเกตอาการ 9 เตียง
กรมประมงเร่งค้นหาผู้สูญหายจากเหตุเรือประมง 'โชคมลิณี' อับปางปากอ่าวปัตตานี
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือและร่วมสนับสนุนการป้องกันเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย พร้อมช่วยเหลือชาวประมงและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รวมไปถึงให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ ศูนย์แจ้งเตือนภัยธรรมชาติปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรมประมงได้ประสานไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) ศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (FMC) และสำนักงานประมงจังหวัดในเขตพื้นที่ชายฝั่งให้เฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมสื่อสารในทุกช่องทางการติดต่อ เพื่อแจ้งให้ชาวประมง เกษตรกร ประชาชนทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเรือประมงที่ทำการอยู่ในทะเล ได้ทำการแจ้งเตือนผ่านทางวิทยุสื่อสารให้กลับเข้ามาหลบพายุเป็นกรณีพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันนี้ (4 ม.ค.) ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุมีเรือประมงอับปางที่ปากอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่ศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (FMC) พบสัญญาณ VMS ของเรือประมง “โชคมลิณี” ขาดหายไป จึงได้ประสานแจ้งให้เรือตรวจการณ์ประมงออกให้การช่วยเหลือ โดยข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เรือประมงที่ประสบเหตุ เป็นเรือขนาด 40 ตันกลอส ความยาว 17 เมตร ซึ่งมีลูกเรือประมง จำนวน 6 คน ล่มอับปางที่ปากอ่าวปัตตานี (บริเวณแหลมตาชี) อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยเรือดังกล่าว ได้แจ้งออกทำการประมงจากท่าเทียบเรือประมงสงขลา ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
แต่เมื่อได้รับการแจ้งจากศูนย์แจ้งเตือนภัยธรรมชาติปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรมประมง จึงได้ขอนำเรือเข้าหลบพายุที่ปากอ่าวปัตตานี เช่นเดียวกับเรือประมงลำอื่น ๆ อีก 9 ลำ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 20.45 น. แต่เมื่อเกิดพายุซึ่งมีความรุนแรงจึงทำให้เรือลำดังกล่าวเกิดเหตุอับปางลง ซึ่งเบื้องต้นเรือตรวจการณ์ประมงทะเลของกรมประมงพร้อมด้วยเรือ ต.995 ของกองทัพเรือ และเรือของกรมเจ้าท่า ได้เข้าให้การช่วยเหลือลูกเรือกลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย จำนวน 4 ราย และพบลูกเรือเสียชีวิต จำนวน 1 ราย สูญหายอีก 1 ราย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานยังระดมค้นหาติดตามลูกเรือที่สูญหายอยู่ และกู้ซากเรือประมงที่อับปางอย่างเต็มกำลัง แต่เนื่องจากคลื่นลมแรงจึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ
นอกจากนี้ กรมประมงได้เตรียมให้ความช่วยเหลือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติทั้งในส่วนของเจ้าของเรือและลูกเรือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติ พ.ศ. 2541
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงขอแจ้งเตือนไปยังชาวประมงให้งดออกจากฝั่งในช่วงที่สถานการณ์พายุยังไม่สงบ และให้ติดตามรายงานสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดจนกว่าสภาวะอากาศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ กรมประมงได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั้งในเรื่องของเรือ และกำลังเจ้าหน้าที่สนับสนุนแล้ว หากประชาชน เกษตรกร ชาวประมง ประสบภัยดังกล่าวสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือไปที่ สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัด หรือ ติดต่อศูนย์แจ้งเตือนภัยธรรมชาติปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรมประมง หมายเลขโทรศัพท์ 0 2562 0546 ตลอด 24 ชั่วโมง
ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้ บรรเทาทุกข์เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า พายุปาบึกส่งผลให้เกิดความเสียหายกับการเกษตร ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของลูกค้าและประชาชนทั่วไปนั้น ธ.ก.ส.มีความห่วงใยสวัสดิภาพของผู้ประสบภัย จึงได้กำหนดแนวทางพร้อมกำชับให้ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออก���ยี่ยมเยือนให้กำลังใจลูกค้า โดยนำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ไปจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน และเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ เช่น จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงจะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัย เช่น การมอบเงินเพื่อสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการให้ความช่วยเหลือกรณีฟื้นฟูหลังประสบภัย
สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย ตลอดจนพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพเป็นกรณีพิเศษต่อไป
“พนักงาน ธ.ก.ส.ในพื้นที่เกิดเหตุทุกแห่งพร้อมเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าอย่างเร่งด่วนด้วยความเต็มใจ สำหรับภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส.นั้น เกษตรกรไม่ต้องกังวลใจ ธ.ก.ส.พร้อมเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ตามมาตรการการช่วยเหลือที่กำหนดไว้ในเบื้องต้น” นายอภิรมย์ กล่าว
ธอส.ส่ง 6 มาตรการพักหนี้ ลดดอกเบี้ยให้กู้ซ่อม/สร้าง และปลอดหนี้บางส่วน
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลง โดยเตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือ คู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี)
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี
สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกัน ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้
มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้
มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-900หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์
บขส.-รฟท. พร้อมรับคืนตั๋วเต็มจำนวน
ด้านบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รายงานว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อน 'ปาปึก' เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยและจังหวัดภาคใต้ของไทย ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมฉับพลัน มีต้นไม้และเสาไฟฟ้า ล้มทับบริเวณถนน ทำให้ต้องปิดถนนเส้นทาง 401 นครศรีธรรมราช-ท่าศาลา-ขนอม และเส้นทาง 1843 นครศรีธรรมราช-ร่อนพิบูล-ทุ่งสง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร บขส.จึงประกาศงดการเดินรถเส้นทางเดินรถจาก นครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ ทุกเที่ยววิ่ง โดยมีเที่ยววิ่งทั้งหมด 11 เที่ยววิ่ง มีผู้โดยสารรวม 422 คน ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ไม่ประสงค์เดินทางสามารถติดต่อคืนตั๋วได้เต็มราคาและสามารถแจ้งเลื่อนการเดินทางได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ของ บขส.
สำหรับเส้นทางผ่านที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาปึก ขณะนี้ คือ เส้นทางนครศรีธรรมราช - สิชล รถโดยสารไม่สามารถวิ่งผ่านได้ตามปกติ จึงหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทาง ทุ่งสง พัทลุง หาดใหญ่ แทน ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าจะรายงานสถานการณ์ให้ทราบต่อไป สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะยกเลิกการเดินทางในเส้นทางสายใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2562 เป็นต้นไป สามารถติดต่อขอคืนเงินค่าตั๋วโดยสารได้เต็มราคาได้ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ สำหรับขบวนรถไฟสายใต้ขณะนี้ ยังคงวิ่งให้บริการตามปกติ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบต่อไป ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ CALL CENTER 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :