นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 8,640 ราย รักษาหาย 8,641 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 82,720 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 540 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 118 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ภาพรวมผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตอยู่ในระดับคงตัว ขณะที่ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงยังคงการแจ้งเตือนภัยโควิด-19 ที่ระดับ 4 โดยขอให้งดการเข้าสถานที่เสี่ยง การรวมกลุ่มทำกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้น ต้องเข้มมาตรการต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมาจากการสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวคนรู้จักกัน และทำงานรวมกลุ่มกันโดยไม่สวมหน้ากากเป็นเวลานาน ทำให้พบคลัสเตอร์ในหลายวงการ เช่น นักกีฬา บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น จึงขอให้ปฏิบัติตามมาตการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณการระบาดในโรงงาน สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ร้านอาหารที่ให้ดื่มสุราในร้าน และโรงเรียนเพิ่มขึ้น เน้นย้ำว่าหากพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการให้แยกแผนกทำงาน แยกพื้นที่ และใช้มาตรการ Bubble & Seal ขณะที่ทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากต่อเนื่อง จึงเน้นติดตามกำกับการเดินทางเข้าประเทศ ในรูปแบบ Test & Go และ Sandbox โดยเฉพาะ
สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1-20 มกราคม 2565 มีจำนวน 289 ราย พบว่า เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีถึง 159 ราย ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 58 ราย ช่วงอายุ 50-59 ปี จำนวน 33 ราย เนื่องจากคนอายุมาก หรือมีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการป่วยแล้วเสียชีวิตสูงกว่า กลุ่มนี้จึงต้องรับวัคซีนให้ครบถ้วน รวมทั้งเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมด้วย จึงขอให้ประชาชนมารับวัคซีนตามที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดส
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ เป็นสายพันธุ์ไมครอนทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อส่วนใหญ่ก็เป็นสายพันธุ์โอไมครอนเช่นกัน แต่ทุกรายไม่มีอาการรุนแรง บ่งบอกว่าวัคซีนช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่จะต้องเร่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ตามช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อเพิ่มภุมิคุ้มกันให้มากขึ้น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ศบค.ปรับลดเหลือกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็น 7 วัน และสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน โดยตรวจ ATK 2 ครั้งนั้น แนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง คือ ให้กักตัวที่บ้าน 7 วัน โดยตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน และตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 5-6 หลังจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อให้โทร 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หากไม่ติดเชื้อ เมื่อครบกักตัว 7 วัน สามารถเดินทางนอกบ้านได้โดยให้สังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน แต่เน้นย้ำว่าให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องทำงาน ให้แยกพื้นที่กับผู้อื่น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด สวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ และเลี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น โดยให้ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากไม่ติดเชื้อก็ถือว่าพ้นการกักตัว
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด ไปแล้วประมาณ 112 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรก 72.1% เข็มที่สอง 66.6% และเข็มที่สาม 15.8% โดยช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ได้กำชับให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามสูตรที่กำหนด เช่น สูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือถ้าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 เข็ม ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง
"ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี โดยในปีนี้ได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 สำหรับแผนในเดือนกุมภาพันธ์ จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า วัคซีนที่ประเทศไทยฉีดมาแล้วกว่า 100 ล้านโดส มีผลข้างเคียงต่ำมาก และอัตราการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนน้อยมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ซึ่งการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อโอไมครอน จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าหลังเทศกาลปีใหม่ พบ 87% เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมักไม่แสดงอาการและอาการไม่รุนแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังพบว่าผู้ที่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ เป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ถึง 159 ราย อายุ 60-69 ปี 58 ราย อายุ 50-59 ปี 33 ราย ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อายุน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ดังนั้น กลุ่ม 607 จำเป็นต้องได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนให้มากที่สุดทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 76% เข็มที่สอง 70% เข็มที่สาม 15.4% หากนับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมกับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่สามแล้ว 10%
“ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อจากบุตรหลานและผู้ที่มาเยี่ยม ส่วนบุตรหลาน และผู้ที่เดินทางไปเยี่ยม ต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ก่อนใกล้ชิดผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว