เมื่อ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา 'ไมเคิล บลูมเบิร์ก' ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตทวีตคลิปวิดีโอที่มีการตัดต่อตัวเองกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนอื่นๆ จากพรรคเดียวกัน
ในคลิปวิดีโอดังกล่าว 'บลูมเบิร์ก' ที่อยู่บนเวทีอภิปรายกล่าวว่าเขาเป็นคนเดียวบนเวทีแห่งนี้ที่เคยสร้างธุรกิจขึ้นมา ขณะที่คลิปวิดีโอตัดภาพไปที่ผู้เข้าสมัครชิงตำแหน่งฯ คนอื่นๆ ยืนเงียบเป็นเวลาหลายนาที ขณะที่ความเป็นจริงนั้น 'บลูมเบิร์ก' หยุดเพียงแปปเดียวก่อนจะอภิปรายต่อ
คลิปวิดีโอดังกล่าวกลายเป็นไวรัลที่มีคนเข้าชมกว่า 4 ล้านคน โดยล่าสุด ทวิตเตอร์ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวที่บลูมเบิร์กทวีตจะถูกจัดอยู่ในประเภทคลิปวิดีโอบิดเบือนตามกฎใหม่ของทวิตเตอร์ที่จะมีผลบังคบใช้ในวันที่ 5 มี.ค. ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังตามตรวจจับคลิปสนับสนุนนโยบายหาเสียงจากบัญชีอื่นๆ ที่ละเมิดกฎเรื่องการปลอมแปลงของแพลตฟอร์มไปแล้วกว่า 70 บัญชี
อย่างไรก็ตาม 'แอนดีย์ สโตน' โฆษกของเฟซบุ๊กออกมาชี้แจงว่า หากมีการโพสต์วิดีโอดังกล่าวลงบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมจะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดกฎเรื่องการปลอมแปลงที่กล่าวว่า "ไม่รวมเนื้อหาที่ทำขึ้นเพื่อการล้อเลียนหรือเหน็บแนม หรือวิดีโอที่มีการตัดต่อเพื่อตัดออกหรือปรับลำดับคำเพียงอย่างเดียว"
ที่ผ่านมา 'บลูมเบิร์ก' มุ่งใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการหาเสียงมาตลอด โดยหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์รายงานว่า 'บลูมเบิร์ก' ใช้เงินจำนวนมากจ้างผู้ที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไบน์ให้สร้างวิดีโอหรือภาพที่สนับสนุนนโยบายหาเสียงของตน
กว่า 500 บุคคลออนไลน์ได้รับเงินถึง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 78,800 บาท ต่อเดือน ให้ใช้เวลา 20 - 30 ชั่วโมง / สัปดาห์ รวบรวมเพื่อนฝูงมาเขียนข้อความสนับสนุนบลูมเบิร์กลงโซเชียลมีเดีย
ล่าสุด 'อีเมอร์สัน บรูกกิง' หนึ่งในผู้วิจัยจากศูนย์ค้นคว้าและวิจัยด้านนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัลของสภาแอตแลนติก ชี้ว่า "รูปแบบการหาเสียงของบลูกเบิร์กทำลายบรรทัดฐานที่เราจะไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้อีกแล้ว" และชี้เพิ่มว่า สิ่งที่บลูมเบิร์กทำ "แสดงให้เห็นความอ่อนแอที่ยังมีอยู่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแม้จะมีการปฏิรูปใหญ่ไปแล้วก็ตาม"