นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า บริษัทเป็นรายแรกที่สามารถสร้าง 'การเปลี่ยนสถานะ' หรือ PCM โดยมีวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ขณะที่เจ้าอื่นๆ ในตลาดยังคงพึ่งวัตถุดิบการผลิตจากปิโตรเคมี พร้อมเสริมว่า นวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันปาล์มของเกษตรกรปาล์มน้ำมันไทยให้เพิ่มสูงขึ้น และเป็นการเดินตามรอยนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย
ปัจจุบัน ราคาขายเฉลี่ยของราคาน้ำมันปาล์มดิบไทย (CPO) อยู่ที่ประมาณ 40 บาท/กก. ตามข้อมูลของกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1 กรมการค้าภายใน ซึ่งนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ชี้ว่า หากเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ในการผลิต PCM ส่งออกไปยังตลาดต่างชาติ คือผลิตประมาณ 130 ตัน/วัน ภายในปี 2563 คิดเป็นรายได้ประมาณ 800 ล้านบาท โดยจะเริ่มการผลิตระยะแรกในไตรมาสที่ 2/2563 นี้ จะส่งให้ราคา CPO สามารถขึ้นไปอยู่ที่ 60 - 80 บาท/กก. ได้
สำหรับอุตสาหกรรมสารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM เป็นประโยชน์อย่างมากกับหลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพราะสารชนิดนี้สามารถปรับเปลี่ยน หรือกักเก็บอุณหภูมิให้อยู่ในภาวะเหมาะสมได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกับประเทศเมืองหนาวในการลดอัตราการใช้ไฟฟ้า
นายอมร เสริมว่า สำหรับตลาดต่างประเทศตอนนี้ บริษัทเน้นไปที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากหุ้นส่วนทางธุรกิจมีความเข้าใจตลาดและมีลูกค้าอยู่ในญี่ปุ่นมาก แต่ก็เริ่มทำการตลาดเพิ่มไปยังฝั่งยุโรป อาทิ เยอรมนี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนวัตกรรม PCM จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย นายสมโภชน์ กล่าวว่า บริษัทยังนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้ในการแพลตฟอร์มการซื้อขายวัตถุดิบของบริษัทด้วยเช่นกัน โดยระบบบล็อคเชนจะเข้ามาเสริมความโปร่งใสในการซื้อขาย ตั้งแต่ระดับเกษตรกรรายย่อยที่ขายผลปาล์มสดให้กับลานเทไปจนถึงระดับโรงกลั่นน้ำมันที่เข้ามาขายให้กับโรงงานของบริษัท
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสริมว่า ปัจจุบันกระทรวงต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับราคาน้ำมันปาล์มดิบอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อพาให้เกษตรกรหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและลดความเหลื่อมล้ำ
โดยนอกจากจะสนับสนุนภาคเอกชนให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ยังคอยส่งเสริมผลักดันให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล (B100) ที่ผลิตมาจากการผสมกันระหว่างน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียมและวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้พลังงาน ในภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ให้สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตที่งหมดของไทยในปัจจุบัน หรือคิดเป็น 2.2 ล้านตันต่อปี ตามข้อมูลตัวเลขจากกระทรวงพลังงาน