นั่นคือ ฮ.KA32 ที่ใช้ในภารกิจกู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัย หรือที่เรียกกันว่า “ฮ.ปักเป้า-ฮ.นีโม่” โดยมีนามเรียกขานว่า “การ์เดียน”
ฮ.KA32 แรกเริ่ม ทบ. จะทำการจัดซื้อ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำการจัดหา และไปตกที่ ปภ. แทน โดยจัดซื้อจากบริษัทคาร์นอฟ รัสเซีย เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ผ่านบริษัท ดาต้าเกท จำกัด ลงนามสัญญาเมื่อ 29มี.ค.2562 หลังเสนอราคาต่ำสุด 1,862 ล้านบาท ก่อนที่จะนำเข้าประจำการที่ กองพันบินที่ 41 ศูนย์การบินทหารบก จ.ลพบุรี
ทั้งนี้ ทบ. กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มีการลงนามความร่วมมือใช้ ฮ.KA-32 เพื่อบรรเทาสาธารณภัย ตามนโยบายรัฐบาลให้ส่วนราชการร่วมกันใช้ศักยภาพช่วยเหลือประชาชนทุกความเดือดร้อน เมื่อ 30 ม.ค. 2563 ซึ่งที่ผ่านมา ฮ.KA32 ที่มีอยู่ 2 ลำ ถูกใช้ในภารกิจดับไฟป่าพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
ปภ.ได้รับการสนับสนุนกำลังพลจาก ทบ. แบ่งเป็น นักบิน 6 นาย และเจ้าหน้าที่ช่าง รวม 24 นาย โดยการขึ้นบินจะมีนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำ ฮ. รวม 7 นาย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นปัญหาในตัวเอง เพราะเจ้าของ ฮ. คือ ปภ. แต่ต้องใช้บุคลากรของ ทบ. ในการใช้งาน เพราะ ปภ. ไม่ได้พัฒนาหน่วยขึ้นมาเอง แต่ตามหลักการหน้าที่ ปภ. จัดหาเองเท่านั้น
ทั้งนี้ในช่วงการจัดซื้อของ ปภ. ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในขณะนั้น
ภายหลังสำนักข่าวอิศรา ออกมาเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ช่วงเดือน ธ.ค. 2560 โดยตั้งคำถามถึงกรณีที่มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และเสนอราคาเกินวงเงินงบประมาณจากราคากลางที่ ปภ. กำหนดไว้คือ 1,732 ล้านบาทตกลำละ 866 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทดาต้าเกท ยังเป็นคู่สัญญาในการจัดซื้ออาวุธ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ กับกองทัพประมาณ 27 สัญญา ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2557-29 ก.ย.2560 รวม 1,995 ล้านบาท
ขณะที่มีข้อมูลปรากฎว่า ผู้ที่เสนอราคากลางเพียงรายเดียวและเสนอเกินวงเงินงบประมาณนั้น ก็คือ บริษัทดาต้าเกท ที่เสนอราคามาสูงถึง 1,862,500,956 บาท มากกว่าราคากลางถึง 162,500,956 บาท จึงถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้ที่กำหนดสเปกและราคากลาง จึงเป็นกองทัพอากาศ กองทัพบก และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งบประมาณในการจัดซื้อเป็นของ ปภ. แม้ทาง ปภ. ในขณะนั้น จะระบุว่าเป็นความร่วมมือระหว่าง ทบ. กับ ปภ. ก็ตาม
ต่อมาเมื่อ พ.ค. 2563 ทาง ปภ. ได้ออกประกาศประกวดราคา จัดซื้อ ฮ.ปีกหมุน ระยะที่สอง อีก 2 ลำ 1,862.4 ล้านบาท ราคาลำละ 931,238,000 บาท โดยใช้งบผูกพัน ปี2563-65 โดยอิงราคากลางเมื่อครั้งล็อตแรกจากบริษัท ดาต้าเกท จำกัด
ต่อมามีประกาศจาก ปภ. เมื่อ 24 พ.ย. 2563 ให้ บริษัท ดาตาเกท จำกัด ที่เสนอขาย ฮ.KA-32 ของรัสเซีย เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยเสนอที่ 1,742 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในส่วน ทบ. ก็มี ฮ.ลำเลียง ที่มีลักษณะใช้ในงานบรรเทาสาธารณภัย-กู้ภัย คือ ฮ.Mi17 V5 ที่ผลิตจากค่ายรัสเซียเช่นกัน
โดยเริ่มจัดหาในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ซึ่ง ทบ. ได้รับ ฮ.Mi17 V5 เข้าประจำการในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. โดย ฮ.Mi17 V5 เคยร่วมในภารกิจช่วย 13 ทีมหมูป่าฯ ในถ้ำขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ใช้ในการยกเครื่องมือหนักไปยังบริเวณขุดเจาะบนเขานางนอน ที่ได้สำรวจไว้แล้ว บริเวณเหนือหาดพัทยา โดย Mi17 V5 เข้าประจำการที่ กองบินสนับสนุนทั่วไป ศูนย์การบินทหารบก เพื่อทดแทน ฮ.ลำเลียง CH-47 ชีนุก
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวได้กระทบชิ่งมายังกองทัพเรือด้วย ที่กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” สำหรับโครงการจัดหา “เรือดำน้ำจีน” ถึงขั้นมีการตัดต่อภาพเรือดำน้ำบินดับเพลิงเหนือพายุเพลิง แชร์กันว่อนโซเชียลฯ
ทั้งนี้มีความคืบหน้าในโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 หลัง ทร. ได้เจรจากับจีน เพื่อขอลดหย่อนการจ่ายงบงวดแรกของเรือดำน้ำที่ 2-3 ผ่านงบประมาณปี2565 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา
โดยได้ข้อสรุปคือ จีนยอมรับข้อเสนอของ ทร. โดยงบงวดปี 2565 จะจ่ายเพียง 1 ใน 3 หรือราว 1,000 ล้านบาท จากราว 4,000 ล้านบาท หรือ 1 ใน 20 ของงบทั้งโครงการ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทร.ไทย ขอจีนชะลอการจ่ายเงินมา 2 ปีงบประมาณแล้ว ในงวดปี 2563-2564 เพื่อนำงบมาช่วยสถานการณ์โควิดก่อน
ดังนั้นในงบงวดปี 2565 ทาง ทร. จึงต้องเจรกับทางการจีน จึงได้ผลลัพธ์มาเช่นนี้ ซึ่งทาง ทร. ได้เสนอต่อสภาเพื่อพิจารณาแล้ว จึงต้องติดตามว่าจะผ่านในชั้นกรรมาธิการหรือไม่
หากไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ทาง ทร. ก็จะต้องเจรจากับจีนใหม่อีกครั้ง แต่ก็จะมีปัญหาตามมา คือ ทางการจีนจะยอมรับเงื่อนไขราคาเดิมตามที่เคยตกลงกันไว้หรือไม่ หรือต้องมีการเจรจาเงื่อนไขและราคากันใหม่ ซึ่งทาง ทร. ก็มีความกังวลว่าราคาจะสูงขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ทร. กลับมาขยับเรื่องเรือดำน้ำอีกครั้ง หลังนิ่งเงียบมานาน อาจเพราะได้รับ “สัญญาณไฟเขียว” จาก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ที่ได้กล่าวในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรง ทร. ให้ ผบ.หน่วย ทำความเข้าใจกับ ทร. ด้วยกัน ในเรื่องโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เพื่อให้ช่วยกันชี้แจงสังคมอีกทอดหนึ่ง
โดยมีความเชื่อว่าหากภายใน ทร. เข้าใจก็จะสามารถชี้แจงต่อสังคมได้มากขึ้น โดยย้ำว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นภารกิจและหน้าที่โดยตรงของ ทร. อย่าให้การทำหน้าที่นี้ ต้องกลายเป็น “จำเลย” อีกต่อไป
จึงต้องจับตาว่า “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2-3 จะได้ “ตั้งไข่” หรือไม่ แต่สิ่งที่ ทร. จะเผชิญในอนาคต ก็คือ “งบผูกพัน” ที่จะทบสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะกระทบการตั้งโครงการใหม่ๆของ ทร. ในอนาคตด้วย
จาก “ฮ.นีโม่” มาถึง “เรือดำน้ำ” เรียกว่า คนละเรื่องเดียวกัน !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง