บุตรสาวคนโต ชื่อ น้ำ จิราพร สินธุไพร เป็นผู้แทนราษฎร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งที่ 5 (อำเภอพนมไพร, อำเภอหนองฮี, อำเภอโพนทราย และอำเภออาจสามารถ ยกเว้นตำบลโพนเมืองและตำบลบ้านแจ้ง) สังกัดพรรคเพื่อไทย
บุตรสาวคนเล็ก ชื่อ เบียร์ ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ทั้งสองเป็นลูกสาวของพ่อนิสิตและแม่เอมอร สินธุไพร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
ความทรงจำรัฐประหารครั้งแรกของ 2พี่น้องสินธุไพร ที่ทั้งสองเริ่มเห็นชัดและได้สัมผัสแบบเต็มๆ คือการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เมื่ออำนาจนอกระบบเข้ามาแช่แข็งประเทศไทย โค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นที่มาจากเสียงประชาชนถึง 19 ล้านเสียง
ตอนนั้น 2 พี่น้องยังอยู่ในวัยที่ยังศึกษาอยู่ บิดาบังเกิดเกล้าเป็นผู้แทนราษฎร จ.ร้อยเอ็ด ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจนอกระบบที่ใช้อาวุธและรถถังพรากสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พรากความกินดีอยู่ดีไปจากประชาชน และต่อมาพ่อของเธอทั้งสองรับบทบาทเป็นแกนำ นปช.คัดค้านอำนาจนอกระบบ
'วอยซ์' สัมภาษณ์พิเศษ 'จิราพร - ชญาภา สินธุไพร' ดีเอ็นเอ 'สินธุไพร' ตัวจริง ผ่าน #VoicePolitics ถึงแนวคิด จุดยืน อุดมการณ์ การต่อสู้ทางประชาธิปไตย ไม่ก้มหัวให้กับอำนาจนอกระบบที่มาจากการรัฐประหารสืบทอดอำนาจเผด็จการ
ซึ่ง 'น้ำ'และ 'เบียร์' ต่างได้รับดีเอ็นเอจาก 'พ่อนิสิต' และพี่น้องทั้งสองพร้อมรับไม้ต่อจากผู้เป็นพ่อของเธอ
"ทหารเอาปืนล้อมเอวคุณพ่อ (นิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยรักไทย และอดีตแกนนำ นปช.) จี้เอวไว้ แล้วสิ่งที่เราเห็นภาพจำของเราคือ คุณพ่อไม่มีความจำนนต่อระบอบเผด็จการ คุณพ่อก็บอกว่า สิ่งที่พวกคุณทำอยู่ กำลังจะฉุดรั้งประเทศให้ถอยหลังลง" ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุกับ 'วอยซ์'
"สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะเห็นตรงกันคือทุกคนจะต้องช่วยกันปฏิเสธการทำรัฐประหาร" จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ย้ำถึงผลพวงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 2 ครั้งในช่วงหลัง
จิราพร สินธุไพร : คุณพ่อเริ่มเข้าสู่การเมืองเมื่อปี 2544 นิสิตลงสมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคความหวังใหม่ ก่อนคุณพ่อเข้าสู่การเมืองเคคยรับราชการครู ตอนเป็นครูไม่เคยนิ่งดูดายปัญหาในสังคมในพื้นที่ จะเป็นกำลังสำคัญในการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนตลอด ตั้งแต่เด็กก่อนคุณพ่อเข้าสู่การเมืองเต็มตัว น้ำกับเบียร์จะสัมผัสการต่อสู้ของคุณพ่อการต่อสู้กับภาคประชาสังคมกับพี่น้องประชาชนมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ก่อนเข้าการเมือง คุณพ่อเคยเป็นแกนนำครูเรียกร้องนมโรงเรียนที่คุณภาพและอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน และมีอีกหลายเหตุการณ์ต่อสู้กับภาคประชาชน ก่อนที่จะเข้าสู่การเมืองเมื่อปี 2544 ตอนที่คุณพ่อเข้าสู่การเมือง น้ำกับเบียร์จะติดสอยห้อยตามไปทุกที่ ก็ได้สัมผัสกับชีวิตของตัวแทนของประชาชนตั้งแต่หาเสียง จนกระทั่งเป็น ส.ส.แล้ว ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้เราสนใจการเมือง
ชญาภา สินธุไพร : ความจำได้ตั้งแต่อยู่ประถมฯ เลย ประถมต้น ติดสอยห้อยตามในวัยเด็ก เราอาจจะทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากให้กำลังใจ คุณแม่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งอาหาร เสบียง สถานที่ทุกอย่าง คุณแม่จะเตรียมพร้อม เราในฐานะลูกจะไปกันทั้งครอบครัว เราทำการเมืองกัน คุณพ่อบอกเสมอว่าเป็นการเมืองทำกันทั้งครอบครัว คุณพ่อชุมนุม เราสองคนเคยกินนอน เดินขบวนป่าดงเค็ง คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเราสองคนยังใส่กระโปรงแดงอยู่เลย ไปกินนอนอยู่กับชาวบ้าน ระหว่างคุณพ่อปราศรัย
จิราพร สินธุไพร : ภาพรวมเราต่อการเมือง ตอนเด็กเรามองการเมืองที่เราเข้าถึงยาก เพราะนักการเมืองสมัยนั้นต้องเป็นผู้มีอิทธิพล ต้องเป็นบุคคลที่ถือว่ามีความพร้อมหลายอย่าง ทุนทรัพย์ พื้นฐานสังคม ค่อนข้างจะเข้าถึงยาก แต่พอช่วงคุณพ่อลงสมัครรับเลือกตั้ง เราเริ่มเปลี่ยนมุมมองของเราในภาพรวมต่อนักการเมือง ส่วนเรื่องประชาธิปไตยภาพรวมตั้งแต่เด็ก คุณพ่อมีการถ่ายทอดบ้าง ตัวน้ำและเบียร์ ที่บ้านคุณพ่อชอบอ่านหนังสือการเมืองที่เกี่ยวกับการต่อสู้ประชาธิปไตย น้ำก็อ่านหนังสือลักษณะนี้แต่เด็ก ก็เข้าใจพื้นฐานของประชาธิปไตย ก็เข้าใจแค่ว่าความเป็นประชาธิปไตยต้องมาจากเสียงประชาชน ต้องมีการเลือกตั้ง ต้องมีเสียงข้างมากในตอนเด็ก แต่ระบบรัฐสภาที่เข้าใจเชิงลึกถ่องแท้ในตอนนั้นก็ยังไม่ได้เข้าใจมาก เพราะว่าด้วยความที่เรายังไม่ได้สัมผัสโดยตรง แค่เข้าใจประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง
ชญาภา สินธุไพร : วัยเด็กเบียร์เป็นคนชอบฟังการปราศรัยในภาคอีสาน พี่น้องประชาชนชอบฟังปราศรัย แต่ก่อนท่าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ และนักการเมืองที่มีชื่อเสียง เวลาที่มีการจัดเวทีปราศรัย พบปะพี่น้องก็พูดคุยสื่อสาร นักการเมืองถ้ามีจิตอาสาเสนอตัวทำงานให้ประชาชน ต้องผ่านการยอมรับ พิสูจน์จากพี่น้องประชาชนจนกว่าจะได้รับเลือก เบียร์เห็นการทำงานของคุณพ่ออย่างหนัก จากการได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
จิราพร สินธุไพร : สมัยแรกคุณพ่อทรหดมาก เพราะตอนนั้นคู่แข่งหลักที่เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นอดีตตรัฐมนตรี และมีฐานประชาชนหนาแน่นในพื้นที่ตัวคุณพ่อเป็นเพียงข้าราชการครูคนหนึ่งที่สนใจทางการเมืองอยากทำงานเป็นตัวแทนประชาชน จำได้เลยตอนเด็กๆ จะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนลงพื้นที่พบปะประชาชนไปรับฟังปัญหา เจอประชาชนเก็บรวบรวมปัญหาก็ใช้เวลาฝังตัว 3-4 ปี ก่อนจะประกาศเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ตอนที่คุณพ่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ตอนนั้นเป็นข้าราชการครูปกติ ไม่ได้มีทุนทรัพย์มากมาย ก็จะมีอุปสรรคปัญหา สมัยนั้น 20กว่าปี ภาคอีสานจะถูกขนานนามว่า หิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ มาก็ได้เป็น ส.ส.แล้ว ไมีมีเงินไม่มีทางได้เป็น สุดท้ายคุณพ่อสามารถเอาชนะใจประชาชน ก็ได้เป็น ส.ส.สมัยแรก ก็เจอวิบากกรรมเยอะเหมือนกัน ต้องถูกนับคะแนนใหม่หลายรอบ ถูกร้องเรียนจากฝ่ายตรงข้าม
ตัวของน้ำเอง ตั้งแต่คุณพ่อเริ่มประกาศลงเลือกตั้ง ได้ติดตามลงพื้นที่ตลอด เราได้เห็นการทำงานของคุณพ่อที่รับการร้องเรียนจากประชาชน ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองในการประสานงานจนแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ จนเกิดประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เรารู้สึกว่ามันเป็นอาชีพหนึ่งสามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้เยอะ ก็เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วงนั้นเลย โตขึ้นอยากเป็นนักการเมืองอยากเจริญรอยตามคุณพ่อ
ชญาภา สินธุไพร : จำได้ว่านับคะแนนครั้งแรกห่างกันไม่มาก ตอนนั้นที่นับมาครั้งแรกชนะห่างหลักสิบ แต่พอยิ่งนับเข้าไปห่างกันหน่วยเดียว น่าจะ 7 คะแนนถ้าจำไม่ผิด มีกลยุทธ์ต่างๆทำให้เราไปไม่ถึงฝั่งฝัน โชคดีเรามีชาวบ้านเข้มแข็ง เป็นผู้สังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้เราสามารถผ่านพ้นไปได้
จิราพร สินธุไพร : ช่วงที่มีโครงการอาจสามารถโมเดล น้ำอยู่มัธยมฯแล้ว เบียร์เรียนมัธยมฯ ที่กรุงเทพฯ น้ำอยู่ ม.ปลาย ช่วงนั้น อาจสามารถโมเดล รัฐบาลไทยรักไทย ให้เป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทย อ.อาจสามารถ มีหมู่บ้านหนึ่ง เป็นหมู่บ้านขอทานมาก่อน ท่านก็ให้เป็นโครงการนำร่องให้กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยลงพื้นที่ของ อาจสามารถโมเดล ยิ่งใหญ่มาก มีคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปพร้อมกับนายกฯ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีคณะทูตานุทูตในประเทศไทยไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์หลายช่อง ในต่างประเทศก็เป็นข่าว จำได้อยู่โรงเรียน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงภาพ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ลงภาพหน้า 1 อยู่นานมาก เพราะว่าพอท่านทักษิณลงไปก็มีแผนงานชัดเจน และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาในพื้นที่
แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อมีการดำเนินโครงการไปสักระยะหนึ่ง ก็เกิดรัฐประหารปี 2549 โครงการหลายๆ อย่างก็พับไป ทุกวันนี้ น้ำไปลงพื้นที่ อ.อาจสามารถเป็น อ.ในเขตเลือกตั้งของน้ำอยู่ ไปลงพื้นที่ 20 ปี คนยังพูดถึง อาจสามารถโมเดล คนยังพูดถึงท่าน ทักษิณ ชินวัตร ยังพูดเลยว่าถ้าไม่มีรัฐประหาร ป่านนี้ อ.อาจสามารถ จะเป็นทองคำไปแล้ว ประชาชนรอคอยมีความหวัง เมื่อเห็นนายกฯ ไปก็เห็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่นายกฯ ลงพื้นที่ไปกินไปนอนกับพี่น้องประชาชน ลงไปรับฟังปัญหากับพี่น้องประชาชนด้วยตัวเอง มันเลยเป็นโครงการแห่งความหวัง ประชาชนคาดหวังมาก พอสุดท้ายไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นสิ่งที่ยังฝังใจประชาชนอยู่ว่า การรัฐประหารทำให้พรากโอกาสดีๆ ของเขาไป
จิราพร สินธุไพร : ตอนนั้นน้ำกับเบียร์เรียนที่กรุงเทพฯ รัฐประหารปี 2549 ก่อนหน้านั้นรัฐประหารเมื่อปี 2534 น้ำเพิ่งเกิดได้ 4 ปี ก็เลยไม่มีความทรงจำรัฐประหารที่ตัวเองแรกเกิด แต่ปี 2549 เป็นครั้งแรกในช่วงอายุของเราที่ได้ยินการรัฐประหาร ตอนนั้นเราก็ตกใจเห็นรถถัง ทหารออกมา เราก็รู้สึกว่าจะเกิดความรุนแรงในประเทศหรือเปล่า แล้วตัวที่บ้านพอมีรัฐประหาร คุณพ่ออยู่ จ.ร้อยเอ็ด ก็ถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายทหารเป็นอาทิตย์ พอออกมาก็มีทหารมาควบคุมสังเกตการณ์ตลอดเวลา ก็รู้สึกว่าเราถูกคุกคามจากการรัฐประหารครั้งนั้น
แต่ว่าหลังจากนั้นมีเหตตุการณ์คุณพ่อมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็รู้สึกไม่พอใจกับการรัฐประหาร ที่ลากดึงประเทศลงคลอง ก็เลยได้ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร โดยคุณพ่อเป็นประธานกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งน้องเบียร์ตอนนั้นเป็น 1 คนที่ได้ร่วมการชุมนุม เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน คุณพ่อรวบรวมประชาชนที่เห็นด้วยกับการต่อต้านการรัฐประหารเดินขบวนจาก จ.ร้อยเอ็ด ไปจ.ยโสธร ที่ จ.ยโสธร ไม่มีกฎอัยการศึก
ชญาภา สินธุไพร : ตอนนั้นหลังรัฐประหารปี 2549 คุณพ่อตั้งหลักได้ คุณพ่อเป็นประธานกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ แล้วก็ร่วมกับกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ สมาพันธ์ต่างๆ ทั่วอีสาน มีทั้งจังหวัดใกล้เคียง จ.มหาสารคาม อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ หลายภาคส่วนมากที่ร่วมกันเกือบเรือนหมื่น ทุกคนเดินทางถูกสกัดด้วยกองกำลังปิดทางไม่ให้เข้ามารวมตัวที่ อ.พนมไพร แล้วจะข้ามแม่น้ำชี จากพนมไพรไปที่ว่าการจังหวัดยโสธร ห่างกัน 20 กิโลเมตร แต่ตอนนั้นมีรถทหาร มาเยอะมาก
เบียร์จำได้ว่าตอนนั้น เบียร์กับคุณพ่อ คุณน้าที่บ้านและชาวบ้านไปกันเยอะ พยายามจะเดินเท้าเพราะเขาไม่ให้เอารถเข้าไป เดินเท้าจาก อ.พนมไพร ข้ามสะพานแม่น้ำชี เพื่อไปจังหวัด ยโสธร ที่ไม่ประกาศกฎอัยการศึก แต่ถูกสกัดก่อนข้ามไป ภาพตอนนั้นที่จำได้คือ ทหารเอาปืนล้มเอวคุณพ่อ จี้เอวไว้ แล้วสิ่งที่เราเห็นภาพจำของเราคือ คุณพ่อไม่มีความจำนนต่อระบอบเผด็จการ คุณพ่อก็คือบอกว่า สิ่งที่พวกคุณทำอยู่ กำลังจะฉุดรั้งประเทศให้ถอยหลังลง แต่ฝ่ายทหารก็พยายามใช้จิตวิทยากล่อมชาวบ้านให้กลับไป อย่าตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง
แต่ว่าตอนนั้นชาวบ้านไม่ได้เกรงกลัวทุกคนมีความตั้งใจแรงกล้าที่จะข้ามไปจุดที่รวมตัว ตอนนั้นจะปราศรัยที่ว่าการ ยื้อกันอยู่หลายชั่วโมง ชาวบ้านบางส่วนที่สามารถออกมารวมตัวกันได้ในหลายจังหวัดก็เดินเท้าไป จำได้ตอนนั้นเบียร์รองเท้าขาด เพราะว่าเดินข้ามไปด้วยหลายกิโลฯ เหมือนกัน อากาศก็ร้อน จนกระทั่งที่ที่ว่าการ จ.ยโสธร ส่วนกลางมีการสั่งให้ผู้ว่าฯ ดับไฟ ไม่ให้มีไฟฟ้า ตัดน้ำ จำได้ว่าตอนนั้นมี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นกลุ่มสมาพันธ์ มาร่วมยังไม่มี นปก. นปช. ทุกคนมาจากทุกภาคส่วน ที่เห็นด้วยกับการต่อต้านรัฐประหาร อีกภารกิจหนึ่งเพื่อต่อต้านไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ปราศรัยค่อนข้างๆ มืดๆ กับชาวบ้าน แล้วนั่งฟังการปราศรัยตรงนั้นถึง 3 ทุ่ม เสร็จแล้วก็แยกย้าย ไม่ได้มีการสร้างความวุ่นวาย เพราะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ว่าเราไม่เอาเผด็จการ ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550
ชญาภา สินธุไพร : อาจจะไปโดยธรรมชาติ เราก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่ากลัวอะไร เหมือนกับที่บ้านทำการเมืองด้วยกันทั้งบ้าน ไปกับคุณน้า คุณพ่อ เรายืนดูเขา (ทหาร) เอาปืนจี้คุณพ่อ แต่คุณพ่อไม่ได้รู้สึกเกรงกลัวอะไร
ชญาภา สินธุไพร : ถ้าย้อนไปปี 2549 ตอนนั้นยังอยู่ในยุคที่ประชาธิปไตยกินได้ นโยบายหลายอย่างต้องยอมรับว่าในยุคพรรคไทยรักไทย ประชาชนผ่านมาเกือบ 20ปี ประชาชนยังจำนโยบายหลายอย่างที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงประชาชน ทำให้ขบวนการนอกระบบมาตัดตอนขบวนการประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ แทนที่เราจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่อำนาจนอกระบบทำให้การกินดีอยู่ดี ทำให้ประเทศไทยถอยหลัง เบียร์มองว่าในฐานะที่เห็นรัฐประหารครั้งนั้น รู้สึกว่าประเทศไทยขาดโอกาส เห็นแล้วว่าการมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม
จิราพร สินธุไพร : เราเชื่อว่าอุดมการณ์คุณพ่อนิสิต เรื่องอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแรงกล้ามาก ทุกคนก็สนับสนุนที่ดี ไม่ใช่แค่คุณพ่อต่อสู้คนเดียว ทั้งคุณแม่ ลูกสาวทั้งน้ำและเบียร์ก็ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ของคุณพ่อ เป็นการให้กำลังใจมากกว่า ถึงกังวลแค่ไหน แต่การทำงานของคุณพ่อก็เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะช่วยให้มีกำลังไม่มากก็น้อยในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยของประเทศ
อย่างน้ำกับเบียร์ ถ้ามีเวลาว่างไม่ติดภารกิจจะไปร่วมฟังการชุมนุมทุุกคืน และไปให้กำลังใจคุณพ่อหลังเวที มานั่งฟังการปราศรัยอยู่ลานข้างหน้าเวที ช่วงหลังๆมีข่าวว่าจะสลายการชุมนุมที่บ้านก็เป็นห่วงความปลอดภัยของเรา แนะนำว่าถ้าไม่สะดวกก็ฟังปราศรัยอยู่ที่บ้านก็ได้ทางช่องทีวี แต่เราสองคนคือชอบฟังการปราศรัยมากก็แอบคุณพ่อมานั่งดูการปราศรัยที่หน้าเวทีกัน 2 คน ก็มีเหมือนกัน
ชญาภา สินธุไพร : บางทีไปร่วมไม่ได้ไปทักคุณพ่อหลังเวที เราอยากไปฟังคุณอาเต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ขณะนั้น เราก็ร่วมฟังกับชาวบ้าน ตอนนั้นเขาก็มองเรายังงงๆ เพราะตอนนั้นเราเด็กมาก แล้วก็กลับบ้าน คุณพ่อก็ไม่ทราบว่าไปหน้าเวที ในช่วงที่มีการชุมนุุมต่อเนื่อง ถ้าไม่ติดภารกิจไปตลอดเลยค่ะ
"มันไม่ได้ง่ายเหมือนยุคนี้ที่จะมีการทำรัฐประหารเอาปืนมาจี้ประชาชน เชื่อว่าถ้ามันเกิดขึ้นจะได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างหนัก" จิราพร สินธุไพร
ชญาภา สินธุไพร : ตอนปี 2557 เบียร์ก็ไปชุมนุมกับที่บ้านและมีเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ ตอนนั้นก่อนนำไปสู่การสลายการชุมนุม ตอนนั้นมีสองฝ่ายราชมังคลาฯ เราไปด้วยกันทั้งบ้าน แล้วก็คนเต็มสนามราชมังคลาฯ แล้วคนก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายอะไรด้านนอก ณ คืนนั้นหลังจากที่เบียร์กับคุณแม่ไปฟังปราศรัยที่สนามราชมังคลาฯ ตอนช่วงตี4 เกือบตี5 ตอนเช้าก็ได้มีรถยนต์ส่วนตัวเคลื่อนนั่งรถยนต์เคลื่อนออกจากสนามฯ กำลังออกทางออกมีการยิงบนตึกสูงจาก ม.รามคำแหง ที่รถโดนกระสุนไป 2นัด ฝั่งเบียร์นั่งเป็นรถ เบียร์นั่งข้างหลังกับคุณแม่ คุณน้าเป็นคนขับ ด้านข้างเบียร์ยิงมาใกล้ตรงขามาก ตอนนั้นเราได้ยินเสียงไม่ทราบว่าเป็นอาวุธอะไร เพราะเราคิดว่าเป็นก้อนหิน
แต่ภาพที่เราเห็นชาวบ้านที่พยายามเดินกลับตอนเช้า เขาวิ่งกรูกันเข้ามาแล้วส่งเสียงบอกว่าอย่าออกไป มีการยิงเข้ามา คือเเขากำลังจะบอกกับคนที่กำลังจะสวนออกไปให้กับเข้าไปในสนาม เพราะมีการยิงจากข้างนอกเข้ามา และมีคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ข้างๆ รถที่ทุกคนกำลังจะเดินทางออกจากสนามราชมังคลาฯ เบียร์เห็นต่อหน้าต่อตาเขาโดนยิง ก็ไม่มีที่กำบัง เขาก็ลากไปตรงที่สามารถบังได้ สุดท้ายมีการยิงที่ตัวถังรถ แต่ว่าไม่ทะลุ ก็บอกคุณน้าที่เป็นคนขับว่าต้องจอดรถ แล้วกลับเข้าไป เป็นการทิ้งรถ แล้ววิ่งกลับไปสนามราชมังฯ ภาพที่เบียร์จำได้ เบียร์วิ่งบังรถคันต่อคัน จากตึกสูงมาสนามราชมังฯ คือที่โล่ง ก็รู้สึกเสียวว่าเราจะโดนยิงหรือเปล่า ก็วิ่งกำบังรถยนต์กับคุณแม่ คันต่อคันจนถึงประตู ไม่มีอะไรบัง ต้องวิ่งให้เร็วที่สุด รู้สึกว่าตอนนั้นขามันก้าวไม่ออก
"การทำรัฐประหารมันกัดกร่อน กัดกินประเทศ มันพรากความกินดีอยูู่ดีของพี่น้องประชาชนทำให้โครงสร้างระบบการเมืองบิดเบี้ยว" ชญาภา สินธุไพร
จิราพร สินธุไพร : ตอนนั้นที่มีการรัฐประหารที่บ้าน จ.ร้อยเอ็ด ก็โดนทหารประมาณ 30-40 นาย เข้าบุกค้นกลางดึกในยามวิกาล ไปค้นที่บ้านที่เป็นสำนักงาน แล้วก็ไปค้นที่บ้านคุณย่า ตอนนั้นคุณย่าอายุ 70 กว่า จะ 80 ปี ก็ตกใจมากก็โทรมาหาทางคุณแม่และญาติๆ ทุกคนว่าโดนทหารล้อมบ้าน ตอนนั้นคุณแม่พาลงมากรุงเทพฯ ก็มีญาติๆ เฝ้าบ้านให้ก็ตกใจกันมากตอนนั้น หลังจากนั้น 6 เดือนที่มีการทำรัฐประหาร ที่บ้าน จ.ร้อยเอ็ด ก็จะมีทหารมาสังเกตการณ์มาคอยควบคุมอยู่ตลอด ผลัดกันมาเช้า-เย็นทุกวันตลอดหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557
ตัวคุณพ่อถูกควบคุมไปที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ตอนนั้นถูกควบคุมตัวไปได้ 1 อาทิตย์ได้ ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาเป็นเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซาก เพราะปี 2549 เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน พอปี 2557 ก็มีรัฐประหารเป็นเหตุการณ์ซ้ำๆ เดิมๆ มันก็เลยเป็นความรู้สึกที่เรารู้สึกชิงชังการทำรัฐประหาร รู้สึกเบื่อหน่ายการทำรัฐประหาร ปี2549 รัฐประหารก็นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งเราก็เห็นว่าเป็นผลพวงการทำรัฐประหารที่มันไม่ยุติธรรมกับประชาชน ประชาชนถูกปล้นอำนาจไป ใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมนั้นมาร่างกฎกติกาเอื้อให้กับผู้มีอำนาจโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน
เป็นตัวอย่างอันหนึ่งตอนที่ปี 2549 ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรืองรุ่งโรจน์จากการบริหารราชการแผ่นดินของท่าน ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น แต่ถูกรัฐประหารพรากนโยบายดีๆ จากประชาชนไป เหมือนแช่แข็งประเทศระยะหนึ่ง พอปี 2557 มีการรัฐประหารอีกเรารู้สึกว่าน่าจะซ้ำรอยเดิม ทุกครั้งที่มีรัฐประหารปี 2557 ครั้งที่ 13 มันเคยพิสูจน์แล้วว่าไม่เคยแก้ปัญหาของประเทศได้เลย มันเป็นอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมจึงไม่เกิดการยอมรับของประชาชน สุดท้ายไม่แก้ปัญหายังสร้างความขัดแย้งในประเทศเพิ่มขึ้นอีก เป็นความรู้สึกที่ประเทศนี้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะเห็นตรงกันคือทุกคนจะต้องช่วยกันปฏิเสธการทำรัฐประหาร ช่วยชิงชังเผด็จการที่มายึดอำนาจจากประชาชน เป็นความรู้สึกเราว่าควรเป็นจุดยืนของคนไทยทุกคนได้แล้ว
จิราพร สินธุไพร : ตอนเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกไม่ได้เลือกตั้งมา 5 ปีเต็ม บรรยากาศตอนนั้นประชาชนรอคอยเลือกตั้ง รอคอยแสดงความเห็นทางการเมือง เลือกเอานายกฯ ส.ส.ตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง บรรยากาศตอนนั้นได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ในภาคอีสาน จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่พี่น้องประชาชนตื่นตัวทางการเมือง เป็นพื้นที่ประชาธิปไตย ตอนหาเสียง น้ำได้ไปปราศรัยในทุกหมู่บ้าน ได้รับการตอบรับอย่างดี แล้วเขาบอกว่าจะใช้การเลือกตั้งในการเลือกนายกฯ เลือกรัฐบาลที่มาจากประชาชน เขาอยากกินดีอยู่ดี เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ทุกข์ทรมานเหลือเกิน แต่น่าเสียดาย รัฐธรรมนูญบิดเบี้ยว กฎกติกาที่สร้างมันเพื่อให้ผู้มีอำนาจอยู่ต่อ ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุดในประเทศไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มี ส.ว. 250คนมาช่วยเป็นกลไกให้ได้นายกฯ ผิดฝาผิดตัว ทำให้เกิดวิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ สังคมถึงทุกวันนี้
ชญาภา สินธุไพร : ต้องบอกว่า พี่น้ำทำได้ดีเกินคาด เราเป็นพี่น้องที่สนิทกันมาก ทำอะไรจะทำด้วยกัน ปกติเขาจะเป็นคนค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยพูด ด้วยความที่ว่าพอตั้งใจอาสาจะมาทำงานการเมืองแล้ว เบียร์เห็นความตั้งใจของพี่น้ำทำได้ทันที การไปปราศรัย 384 หมู่บ้านไปทุกหมู่บ้านตอนหาเสียง พี่น้ำลงเองทุกหมู่บ้าน เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน เพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง นำเสนอความตั้งใจที่จะมารับใช้พี่น้องประชาชน เบียร์เห็นแนวคิดอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งที่พี่น้ำจะรับไม้ต่อจากคุณพ่อที่โดนคดีทางการเมือง ที่ไม่สามารถรับอาสาลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก เบียร์เห็นการตั้งใจทำงานของพี่น้ำ สามารถต่อยอดงานในพื้นที่ การปราศรัย การอภิปรายที่เข้มข้นตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างถึงพริกถึงขิง ก็รู้สึกว่าภาคภูมิใจพี่สาวคนนี้ รู้สึกเป็นความหวังของคนในยุคเจเนอเรชั่น ที่มีคนรุ่นใหม่ในยุคเจนเดียวกับเราที่อยากทำการเมืองอาสารับใช้พี่น้องประชาชนตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ชญาภา สินธุไพร : แรกๆที่ได้สอบถามว่าทำไมถึงมาติดตาม ส.ส.น้ำ จิราพร บางส่วนบอกว่าเห็นจากการอภิปรายในสภาฯ เริ่มแรกทุกคนจะไม่ได้อินการเมืองมาก แต่พอเห็นการอภิปรายรู้สึกเนื้อหาเข้มข้น แต่การพูดไปมีใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่ตลอด เขาก็เริ่มสนใจ เขาพูดถึงเรื่องอะไร และติดตามดูคลิปเดิมๆที่พี่น้ำอภิปราย อีกบางส่วนจากพ่อแม่ที่เป็นโหวตเตอร์ให้กับพรรคเพื่อไทย บางคนเป็นครอบครัวคนเสื้อแดงที่คุณพ่อคุณแม่ เคยร่วมต่อสู้การชุมนุมส่งต่อมาถึงรุ่นลูกที่พอเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย เขาสนใจและได้อิทธิพลทางการเมืองมาติดตามดูการอภิปรายการทำงานเริ่มชื่นชอบพี่น้ำจากตรงนั้น
จิราพร สินธุไพร : (หัวเราะ)
ชญาภา สินธุไพร : ตามทุกฝีก้าวไหม น้องๆ คนรุ่นใหม่ น้องๆ รุ่นใหม่จะอยู่ในโซเชียลเยอะทั้งทวิตเตอร์ อินสตาแกรม TikTok เฟซบุ๊ก ก็ในตอนหลังเราจะเห็นพี่น้ำลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด น้องๆอยากเห็นการทำงานของพี่น้ำ นอกจากเห็นในสภาฯแล้ว ก็อยากเห็นเวลาพี่น้้ำลงพื้นที่เป็นยังไง ก็มีน้องบางกลุ่มขอลงพื้นที่ไปกับ ส.ส.น้ำ ก็จะเห็นว่าเริ่มออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า วันละ 10 งาน 6 โมงเย็นยังไม่ถึงบ้านกินข้าว เขาบอกว่าเป็น ส.ส.เหนื่อยขนาดนี้เลยหรอ น้องเลยเริ่มเข้าใจ อ๋อที่เราเห็นพี่น้ำในสภาฯ เขาต้องมีภารกิจดูแลพี่น้องประชาชนอีก เขาจะเห็นทุกมิติการติดตามทั้งในและนอกสภา
จิราพร สินธุไพร : ด้วยข้อมูลพยานหลักฐานที่ได้เสนอต่อสภาฯ ไปหลายครั้งที่ผ่านมา น้ำเชื่อว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติจะนั่งไม่ติดเก้าอี้แล้วจะถูกโหวตไม่ไว้วางใจได้เลย แต่ว่าด้วยความที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราก็จะเห็นลักษณะข่าวลือ การที่จะแจกกล้วยในสภาหรือไม่ และคุยเจรจาเรื่องผลประโยชน์และการโหวตไม่ได้โหวตจากข้อมูลพยานหลักฐานที่ฝ่ายค้านเสนอไป แต่โหวตจากการต่อรองผลประโยชน์กันในรัฐบาล เป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ด้วยข้อมูล พยานหลักฐานที่มีอยู่ องค์ประกอบชัดเจน เพราะกฎหมายให้อำนาจในการทำ และสองมีการกระทำความผิด และมีความเสียหายเกิดขึ้นกับประเทศแล้ว
ตอนนี้ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยร่างคำฟ้องไว้แล้วจะยื่นต่อองค์กรอิสระ แต่รอคอยวันที่พล.อ.ประยุทธ์จะลงจากตำแหน่ง และดูว่าอนุญาโตตุลาการจะชี้ขาดเมื่อไร และดูช่วงเวลาที่เหมาะสมจะยื่นต่อองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบพล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และเมื่อไรที่พรรคเพื่อไทยมีอำนาจรัฐในมือ เรายืนยันจะตั้งคณะทำงานมาเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงหาผู้กระทำความผิดให้ได้ เพื่อไม่ให้สุดท้ายประชาชนและประเทศต้องแบกรับความรับผิดนี้
ชญาภา สินธุไพร : เรายังเห็นความพยายามจะอยู่ในอำนาจและสืบทอดอำนาจทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะครั้งนี้ เป็นการอยู่ที่ยาวนานและทุุกข์ทรมานที่สุุดของประชาชนคนไทย ถ้ามองแล้วไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะการทำรัฐประหารมันกัดกร่อน กัดกินประเทศ มันพรากความกินดีอยูู่ดีของพี่น้องประชาชนทำให้โครงสร้างระบบการเมืองบิดเบี้ยว เหมือนที่พี่น้ำบอกการแก้ไขที่อ้างว่าจะมาแก้ไขทุจริต แก้ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันยิ่งทำให้ปมเยอะขึ้นความขัดแย้งยิ่งมากขึ้น ขณะเดียวกันมันฉุดรั้งให้ประเทศไทยถอยรั้งก้าวไม่ทันนานาประเทศ เบียร์ไม่อยากเห็นการเกิดรัฐประหารอีกต่อไป และคนที่ทำรัฐประหารควรได้รับโทษในฐานะกบฏ
จิราพร สินธุไพร : น้ำเชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แล้วในยุคสมัยนี้ เพราะประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้าถึงประชาชน ประชาชนสามารถหาข้อมูลเรื่องราวทางการเมือง ข้อมูลช่วยกันแชร์ง่ายมาก มันไม่ได้ง่ายเหมือนยุคนี้ที่จะมีการทำรัฐประหารเอาปืนมาจี้ประชาชน เชื่อว่าถ้ามันเกิดขึ้นจะได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างหนัก
ในฝ่ายภาคการเมืองเองและพรรคเพื่อไทย เมื่อไรที่มีโอกาสเหมาะสมจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาผิดกับคนทำรัฐประหารในฐานกบฏ ให้การรัฐประหารไม่ถูกยอมรับในประเทศไทย คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเตรียมไว้ ในภาคประชาชนจะเห็นกระแสสายธารประชาชนไปชุมนุมบางกลุ่ม สุดท้ายสำนึกผิดเป็นการปูทางให้กับรัฐประหาร และคนได้รู้แล้วว่าการรัฐประหารไม่ได้ทำให้ประเทศไทยพัฒนา มีแต่ฉุุดรั้งและสร้างปมใหม่ไปเรื่อยๆสร้างปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด อะไรที่เคยบอกว่าจะเข้ามาแก้ปัญหา ไม่สามารถแก้ไขได้เลย ประเทศยิ่งถอยหลังลงคลองไปมาก พิษร้ายเชื่อว่าทุกคนได้สัมผัสมาแล้ว และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก
จิราพร สินธุไพร : น้ำเชื่อว่าแต่ก่อนที่เราบอกว่าจะเป็นเสือตัวที่5 ของเอเชียไม่เกินจริง ตอนนี้เราจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแล้วก็เป็นไปได้ค่ะ
ชญาภา สินธุไพร : เห็นด้วยค่ะ ต้องยอมรับนะคะว่า นโยบายเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ที่เราพูดถึงยังมีความทันสมัย ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันนี้มีโมเดลให้ทำก็ยังไม่สามารถนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตได้เลย เบียร์เชื่อว่าถ้าประเทศยังเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่เป็นพลเรือนมาจากพี่น้องประชาชนตามเจตนารมณ์ เบียร์เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้
ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล / วิทวัส มณีจักร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง