ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยล่าสุดชี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ผลักให้ประชากรอีก 395 ล้านคน เข้าสู่ความยากจนรุนแรงขั้นสุด คนทั่วโลกที่ต้องดำรงชีวิตด้วยเงินไม่ถึง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 ล้านคน

รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่โดย UNU-WIDER ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ โดยนำเสนอหลายฉากทัศน์ที่พิจารณาจากเส้นความยากจนหลากหลายแบบตามนิยามของธนาคารโลกตั้งแต่ความยากจนรุนแรงขั้นสุด ที่หมายถึงคนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยเงิน 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันหรือน้อยกว่า ไปจนถึงคนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยเงิน 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันหรือน้อยกว่า โดยภายใต้ฉากทัศน์ที่ร้ายแรงสุด คือหากมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวหรือการบริโภคหดตัวลงร้อยละ 20 จะทำให้จำนวนคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความยากจนขั้นรุนแรงสุดอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,120 ล้านคน 

ส่วนเมื่อคิดจากการหดตัวของรายได้และการบริโภคในระดับเท่ากันนี้กับเกณฑ์การใช้ชีวิตด้วยเงิน 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ในหมู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จะพบว่ามีคนที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้เส้นยากจนนี้เพิ่มขึ้นกว่า 3,700 ล้านคน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก 

‘แอนดี ซัมเนอร์’ ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานนี้ระบุว่า ภาพอนาคตที่คาดการณ์สำหรับคนยากจนที่สุดในโลกดูสิ้นหวัง เว้นแต่รัฐบาลต่างๆ จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมและทำอย่างรวดเร็ว รวมถึงชดเชยการสูญเสียรายได้ประจำวันที่คนยากจนเผชิญอยู่ โดยซัมเนอร์ยังระบุว่า ตัวเลขเหล่านี้อาจส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนถอยหลังลงไป 20-30 ปี รวมถึงทำให้เป้าหมายยุติความยากจนของสหประชาชาติกลายเป็นความเพ้อฝัน 

ขณะเดียวกัน รายงานนี้ยังชี้ถึงปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง ซึ่งประชากรหลายล้านคนใช้ชีวิตอยู่เหนือเส้นความยากจนเพียงเล็กน้อยและคนเหล่านี้จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มั่นคงที่สุด เมื่อเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 โดยประเทศในเอเชีย เช่น บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถานและฟิลิปปินส์ ถูกจัดว่ามีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อแรงกระแทกทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสพร้อมด้วยมาตรการล็อกดาวน์ที่ตัดลดกิจกรรมต่างๆ 

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาธนาคารโลกคาดว่า วิกฤตการระบาดใหญ่ครั้งนี้จะทำให้ประชากร 70-100 ล้านคน ถูกผลักลงสู่ความยากจนรุนแรงขั้นสุด  

อ้างอิง CNA / The Japan Times