ไม่พบผลการค้นหา
เวทีการเมืองกำลังเพิ่มอุณหภูมิและความคึกคักหลังจากพรรคการเมืองต่างๆ สามารถตั้งป้ายหาเสียง บอกเล่านโยบายสู่ประชาชนได้ ขณะรัฐบาล คสช. ก็ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นที่จะ "สาน" และ "สืบทอด" นโยบายที่สร้างมา โดยเฉพาะการ "ซื้อใจ" ประชาชนคนรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย

“การดูแลสวัสดิการ ค่าครองชีพประชาชน รัฐบาลจะดูแลเอง เพราะมีคนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งไม่พอกินแน่นอน ฉะนั้นใครจะหาว่าแจกเงิน ก็จะแจก เพื่อให้คนอยู่รอดได้ แต่ไม่ใช่แจกกันเปล่า ๆ เรามีฝึกอบรมเขา ซึ่ง ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และ สหกรณ์การเกษตรต้องมีบทบาท”

ข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กุนซือใหญ่ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ที่ประกาศก้องบนเวทีอีเวนต์ใหญ่ภาคเกษตร “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลัง ปฏิรูปภาคเกษตรไทย” ซึ่งจัดขึ้น ณ อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา

คำประกาศดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล คสช. ได้เห็นชอบให้ดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 พร้อมกับให้มีการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า รัฐบาล คสช. มีการใช้ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นเครื่องมือ “ซื้อใจ” ชาวรากหญ้ามาตลอด มีการเติมเงินเข้าไปทุกเดือน ๆ แถมยิ่งใกล้ช่วงเลือกตั้ง ยังเพิ่ม “ลูกเล่น” เข้าไปอีก

“แจกเงิน” กว่า 1.2 หมื่นล้านบ. ชิมลางสวัสดิการคนจนรอบแรก

โดยเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปีแรกที่รัฐบาล คสช. เริ่มเปิดให้มีการ “ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “ลงทะเบียนคนจน” ในปี 2559 ตอนนั้น อาจจะด้วยทำระบบ “บัตรสวัสดิการ” ไม่ทัน หรือต้องการกระตุ้นการบริโภครากหญ้าเพื่อปั๊มเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก

รัฐบาล คสช. จึงถือโอกาส “ชิมลาง” ด้วยวิธีการ “แจกเงิน” เข้ากระเป๋าให้ผู้ผ่านคุณสมบัติเป็น “คนจน” ราว 8 ล้านคน สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี จะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 3,000 บาท/คน ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 30,000-100,000 บาท/ปี จะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 1,500 บาท/คน

โดยจ่ายระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2559 - 31 ม.ค. 2560 ถือว่าเป็น “รอบแรก” ในการใช้งบประมาณจ่ายสวัสดิการคนจน ซึ่งรอบนั้นใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 19,290 ล้านบาท แบ่งเป็น การจ่ายให้แก่ ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร ราว 5.4 ล้านคน เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 12,750 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการจ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกร

แจกรอบ 2 ผ่าน “บัตรคนจน” รูดปรื๊ด ๆ ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบ.

ขณะที่ ในปี 2560 มีการเปิดให้ลงทะเบียน “รอบใหม่” โดยมีการตีกรอบคุณสมบัติต่าง ๆมากขึ้น ซึ่งได้ตัวเลขคนลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน แต่ผ่านคุณสมบัติประมาณ 11.4 ล้านคน โดยเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ราว 8.3 ล้านคน ที่เหลือมีรายได้ 30,000-100,000 บาท/คน/ปี

รอบนี้มีการ “แจกบัตร” ที่เรียกว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยที่กรมบัญชีกลาง จะเติมเงินในบัตรให้แก่ผู้ถือบัตรในแต่ละเดือน เพื่อใช้จ่ายใน 2 หมวด ได้แก่ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย 1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตดุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้า โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี จะได้รับ 300 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับ 200 บาท/คน/เดือน และ 2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3เดือน

และ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย 1) วงเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน 2) วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน และ 3) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน อย่างไรก็ดี สำหรับเงินที่เติมในบัตรช่วงดังกล่าว หากใช้ไม่หมดจะถูกตัดไปไม่ไปทบรวมกับวงเงินที่เติมให้ใหม่ในเดือนถัด ๆไปแต่อย่างใด

ทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับการเติมเงินคนละ 1,600-1,700 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับการเติมเงินคนละ 1,700-1,800 บาทต่อเดือน

ซึ่งการใช้เงินงบประมาณใน “รอบที่ 2” นี้ ใช้วิธีการจัดตั้ง “กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” วงเงิน 50,000 ล้านบาท (ภายหลังถูกตัดในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เหลือ 46,000 ล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการเงินที่จะต้องมีการ “เติม” ทุกเดือน เบ็ดเสร็จรวมแล้ว 41,940 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนที่เหลือจะใช้ในการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้

เติมเงินคนฝึกอาชีพอีก 1.3 หมื่นล้านบาท

จากนั้น ต้นปี 2561 รัฐบาล คสช. จัดทำ “มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน เฟส 2” เพื่อฝึกอาชีพให้กับคนจนเหล่านี้ โดยคนที่เข้าโครงการมีทั้งสิ้น 4,145,369 ราย ซึ่งหากเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับการเติมเงินเพิ่ม 200 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี จะได้รับการเติมเงินเพิ่ม 100 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า

เพิ่มลูกเล่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 ในการ “เติมเงินในบัตร” อีกจำนวนกว่า 13,872 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอาชีพ) พร้อมกำหนดระยะเวลาเติมเงิน 10 เดือน (มี.ค.-ธ.ค.2561) ซึ่งหลังจากเติมเงินได้ราว 6 เดือน (มี.ค.-ส.ค.2561) ใช้เงินไป 5,695.83 ล้านบาท ก็มีการปรับ “โยก” เงินที่เติมส่วนนี้ให้เป็นการเติมเข้า “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน ซึ่งทำให้ผู้ถือบัตรไปถอนเงินผ่านตู้ ATM และสาขาของธนาคารกรุงไทยได้ รวมถึงหากเงินดังกล่าวไม่ได้ใช้จ่าย ก็จะ “สะสม” อยู่ในบัตร ไม่ได้ถูกตัดไปหากไม่ใช้เหมือนก่อนหน้านั้น

เพิ่มงบฯอีก 4 หมื่นล้านบ.เติมกองทุนบัตรคนจน

ต่อมา รัฐบาล คสช.ได้จัดสรรงบประมาณปี 2562 อีก 40,000 ล้านบาท เติมในกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (กองทุนบัตรคนจน)

รวมถึงมีการใช้กลไกกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน เพื่อจัดทำบัตรสวัสดิการรอบ “เก็บตก” อีกครั้ง ก่อนจะสรุปออกมาเป็น 4 มาตรการเพิ่มเติม ในคราวประชุม ครม. วันที่ 20 พ.ย. 2561

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบ 4 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ครัวเรือนละ 230 บาทต่อเดือน และค่าน้ำประปา ครัวเรือนละ 100 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561- ก.ย. 2562 (2) มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท

(3) มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย (65 ปีขึ้นไป) คนละ 1,000 บาท และ (4) มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คนละ 400 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 - ก.ย. 2562

ซึ่งทั้ง 4 มาตรการนี้ใช้งบประมาณ 38,730 ล้านบาท จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ล่าสุด “สุทธิรัตน์ รัตนโชติ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง บอกว่า กรมบัญชีกลางเตรียมจ่ายเงินตามมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money ) ของผู้มีสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เริ่มจ่ายเดือนแรกในวันที่ 18 ก.พ. 2562

“เดือนแรกจะจ่ายให้กับผู้ใช้สิทธิช่วยเหลือค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 2,281 ราย เป็นเงิน 345,642 บาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 826,762 ราย เป็นเงิน 144,546,378 บาท การประปานครหลวง (กปน.) จำนวน 4,186 ราย เป็นเงิน 278,161 บาท และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 26,287 ราย เป็นเงิน 1,819,446 บาท” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

ต่ออายุเติมเงินคนจนฝึกอาชีพอีก 6 เดือนช่วงเลือกตั้ง

นอกจากนั้น แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแล้ว ครม. เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2562 ก็ได้เห็นชอบให้ต่ออายุ “มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2” อีก 6 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.2562 ซึ่งยังคงมีการเติมเงินเข้ากระเป๋าผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 100/200 บาทต่อคนต่อเดือนเช่นเดิม เบ็ดเสร็จใช้งบประมาณ 4,370 ล้านบาท หรือ ราว 728 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่มีเหลืออยู่

พร้อมกันนี้ มีการปรับเปลี่ยนการเติมเงินรายเดือน โดยโยกวงเงินที่ไว้ใช้จ่ายซื้อของร้านธงฟ้าส่วนหนึ่งมาใส่ใน “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อให้สามารถ “กดเงินสด” ใช้ได้ กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะโยกวงเงินเดิมที่เคยได้ 300 บาทต่อคนต่อเดือน มาใส่กระเป๋าเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และ ผู้ที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาท จะโยกวงเงินจากเดิมที่เคยได้ 200 บาทต่อคนต่อเดือน มาใส่กระเป๋าเงิน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนวงเงินที่เหลือก็ยังอยู่ในหมวดร้านธงฟ้าเช่นเดิม ซึ่งมาตรการนี้จะดำเนินการเฉพาะช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 2562 เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยรัฐบาลอ้างว่าช่วย “ลดภาระประชาชน” แต่จริง ๆแล้วก็มองได้ว่า เป็นการ “แจกเงินผ่านบัตร” นั่นเอง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง บอกว่า เบ็ดเสร็จแล้ว “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะใช้งบประมาณตกปีละประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณใส่ไว้ให้ทุกปี และขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากมีผลบังคับใช้ โดยจะทำให้กลายเป็น “กองทุนถาวร” ที่รัฐจะต้องใส่เงินสนับสนุนทุกปี เช่นเดียวกับกองทุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมกับเปิดให้สามารถบริจาคเข้ากองทุนได้ด้วย

“ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว รอแค่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

คลังเล็งลงทะเบียนคนจนรอบใหม่หลังเลือกตั้ง

ขณะที่กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอเดินหน้าจัดให้มีการ “ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่ หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้วได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้ว โดยรอบนี้จะปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนจากเดิมที่พิจารณาเป็น “รายบุคคล” มาเป็น “รายครัวเรือน” แทนทั้งเรื่องรายได้และการถือครองทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ “คนจนไม่จริง” แอบแฝงใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งหมดนี้ อยู่บนความคาดหวังที่ว่า เมื่อกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กลายร่างเป็น “กองทุนถาวร” แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา ก็ต้องเดินหน้านโยบายนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป