ไม่พบผลการค้นหา
นี่ไม่ใช่ความรักฟุ้งฝันของนักเรียนหนุ่มมัธยมปลาย แต่เป็นเรื่องของเกย์ผู้ใหญ่สองคนที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ นอกจากนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ยังนำเสนอสามประเด็นใหญ่ไปพร้อมกัน

เริ่มออนแอร์ไปตั้งแต่ 5 เมษายนที่ผ่านมาทางช่อง TV Tokyo สำหรับซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Kinou Nani Tabeta หรือ What Did You Eat Yesterday? สร้างจากมังงะชื่อเดียวกันของ ฟูมิ โยชินางะ และเป็นที่รู้จักในบ้านเราพอสมควร เนื่องจากการ์ตูนเรื่องมีชื่อไทยว่า ‘เมื่อวานเจ๊ทานอะไร’ ชื่อที่ใครได้ยินก็ต้องจำได้ไปทั้งชีวิต

แม้ชื่อไทยจะดูแซ่บเวอร์ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นการ์ตูนแสนสงบร่มรื่น ว่าด้วยคู่เกย์วัยสี่สิบ สองคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ชิโระ คาเคย์ ทำอาชีพทนายและไม่เปิดเผยเพศสภาพของตนกับใครทั้งสิ้น ส่วน เคนจิ ยาบุกิ เป็นช่างตัดผมบุคลิกร่าเริงที่เม้ามอยเรื่องชีวิตรักของตัวเองไปทั่วจนชิโระไม่พอใจอยู่บ่อยครั้ง


05.jpg

มังงะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในวงการการ์ตูนญี่ปุ่น อย่างที่มีการแบ่งเป็นหมวด BL-Boy’s Love อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ What Did You Eat Yesterday? แตกต่างออกไปคือเนื้อหาที่ดูซีเรียสจริงจังกว่า BL ทั่วไป นี่ไม่ใช่ความรักฟุ้งฝันของนักเรียนหนุ่มมัธยมปลาย แต่เป็นเรื่องของเกย์ผู้ใหญ่สองคนที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ นอกจากนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ยังนำเสนอสามประเด็นใหญ่ไปพร้อมกัน

หนึ่ง-ไลฟ์สไตล์ของเกย์วัยกลางคน : ประสบปัญหาคลาสสิกประเภทต้องปิดบังความเป็นเกย์ของตัวเองจากที่ทำงาน เพื่อนบ้าน หรือแม้ชิโระจะเปิดเผยกับพ่อแม่ว่าตัวเองเป็นเกย์และอยู่กินกับผู้ชาย แต่ดูเหมือนลึกๆ แล้วทั้งคู่ยังหวังให้เขาแต่งงานกับผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีการหักมุมเรื่องภาพเหมารวมของเกย์เมื่อมีการเฉลยว่าชิโระผู้มาดแมนเป็นฝ่าย Bottom ส่วนเคนจิที่ออกจะตุ้งติ้งกลับเป็น Top

สอง-การทำอาหาร : ที่มาของชื่อมังงะมาจากการที่ทุกตอนของการ์ตูนจะต้องมีฉากชิโระทำอาหาร (นานๆ ทีก็จะเป็นเคนจิบ้าง) ซึ่งฉากทำอาหารนั้นกินความหลายหน้ากระดาษ บอกถึงสูตรและกระบวนการทำอย่างละเอียด ชนิดที่ว่ามีแฟนคลับเอาไปทำตามแล้วอัพวิดีโอลงยูทูบกันด้วย

สาม-เรื่องกฎหมาย : ชิโระเป็นทนายที่ไม่ทะเยอทะยาน เขากล่าวชัดเจนว่าอยากทำคดีเล็กๆ ประเภทที่ทำให้เขามีเงินเดือนพอกินและได้เลิกงานตรงเวลา ดังนั้นคดีที่ชิโระไปเกี่ยวพันจึงเป็นเรื่องผัวๆ เมียๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่หลายเคสก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น ตอนที่เล่าถึงเรื่องความรุนแรงภายในครอบครัว (DV-Domestic Violence) ที่ฝ่ายสามีเป็นผู้ถูกภรรยาทำร้าย แต่กลับไม่กล้าบอกใครเพราะกลัวถูกจะล้อเลียนเรื่องความเป็นชาย


01.jpg

เมื่อต้นปีมีการประกาศว่า What Did You Eat Yesterday? จะสร้างเป็นละครไลฟ์แอ็คชั่น สิ่งที่แฟนๆ กังวลมากที่สุดก็คงเป็นนักแสดงที่จะมารับบทนำ แต่หลังจากดูไปสามตอนก็ถือว่าสอบผ่านฉลุย ทั้งฮิเดโตชิ นิชิจิมะ ที่บุคลิกเท่ๆ ของเขาเหมาะกับบทชิโระอยู่แล้ว ส่วน เซโย อุจิโนะ อาจจะมีภาพจำของลุคแบบเข้มๆ ลุยๆ แต่ในเรื่องนี้เขาก็เล่นเป็นเคนจิที่มีบุคลิกออกสาวได้อย่างพอดิบพอดี

สิ่งที่โดดเด่นของ What Did You Eat Yesterday? คงเป็นการที่มันไม่ค่อยมีแอ็คติ้งเวอร์ๆ แบบการ์ตูนชนิดที่เราเห็นบ่อยๆ ในละครญี่ปุ่น มันทำให้ยิ่งรู้สึกว่าเรื่องราวของละครสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ เป็นแนวคิดคนละจักรวาลกับละครวายไทยที่ผลิตกันมากมายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มันมักเต็มไปด้วยความแฟนตาซีขายฝัน ฉากเซอร์วิสเรี่ยราด และพล็อตเรื่องไม่ค่อยสมเหตุสมผลจนต้องขมวดคิ้วหลายตลบ

แต่ละครวายแบบไทยๆ ประเภทที่ว่ามาก็มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าเน้นขายกลุ่มวัยรุ่น ขายความบันเทิงและการหลบหนีจากความเป็นจริง (Escapism) และฝั่งญี่ปุ่นเองก็มีหนัง/ละครแนวนี้เช่นกัน ล่าสุดผู้เขียนได้ดูหนังเกย์ญี่ปุ่นเรื่อง Does the Flower Bloom? (2018) ว่าด้วยความรักระหว่างพนักงานออฟฟิศกับเด็กมหา’ลัย พวกเขาแวดล้อมด้วยเพื่อนชายหน้าตาดีและคอยเชียร์ความรักของทั้งคู่อย่างเต็มที่จนเหมือนเรื่องราวที่เกิดในโลกยูโทเปีย

แน่นอนว่าถ้าพูดถึงละครเกย์ญี่ปุ่น อีกเรื่องที่จะละเลยไปไม่ได้เลยคือ Ossan’s Love (2018) ที่เป็นความฮิตระดับปรากฏการณ์ของปีที่แล้ว ละครเล่าถึงมนุษย์เงินเดือนที่ถูกเจ้านายรุ่นลุงมาหลงรัก แถมเรื่องวุ่นหนักเข้าไปใหญ่เมื่อเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องก็มาชอบเขาด้วย

แม้ว่าจะเป็นละครที่ดูสนุกมาก แต่ Ossan’s Love ก็สร้างความไม่สบายใจกับผู้ชมจำนวนมาก ละครนำเสนอฉาก Sexual harassment (พระเอกถูกจูบและแตะเนื้อต้องตัวอยู่หลายครั้ง) และ Power harassment (เจ้านายใช้สถานะของตัวเองเข้าหาพระเอก) อย่างไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไรนักราวกับว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนการดูละครให้เพลิดเพลินต้องใช้วิธี ‘ทำเป็นลืมๆ’ ฉากรบกวนใจเหล่านี้

ปีนี้จะมี Ossan’s Love ภาคหนังใหญ่เข้าฉายด้วย ไม่อาจแน่ใจได้ว่าทีมผู้สร้างจะปรับปรุงเนื้อหาให้รอบคอบขึ้นหรือไม่ แต่นี่ก็แสดงถึงการขาดความเข้าใจต่อเรื่อง LGBT ของสังคมญี่ปุ่น แม้ว่าโอลิมปิก 2020 ที่ใกล้เข้ามาจะทำให้ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาหลายด้าน ทั้งการรับแรงงานต่างชาติ เพิ่มป้ายภาษาอังกฤษ ออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แบนการขายการ์ตูนโป๊ในมินิมาร์ท แต่ประเด็นเรื่อง Gender และ LGBT ยังมีข้อกังหามากมาย ทั้งการต่อสู้เรื่องกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน หรือมหาวิทยาลัยสตรีบางแห่งประกาศรับนักศึกษาข้ามเพศ แต่ก็เกิดคำถามว่าข้ามเพศในที่นี้คืออะไร ต้องแปลงเพศ? ต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิง? ต้องมีลุคเป็นผู้หญิง?

เช่นนั้นแล้วดูเหมือนว่าการแก้ไขเรื่องความเข้าใจและสิทธิของ LGBT จะไม่ใช่เรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ณ ตอนนี้ แม้ว่ามันจะถือเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศก็ตาม


03.jpg