ไม่พบผลการค้นหา
'วิป 3 ฝ่าย' ถกกรอบเวลาโหวตนายกฯ รอบ 3 คาดถกเปิดโอกาส 'เศรษฐา' แสดงวิสัยทัศน์ในสภาหรือไม่ พร้อมหน้าครั้งแรกหลัง 'เพื่อไทย' แยกวงสลายขั้ว

วันที่ 18 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา เวลา 10.00 น. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดหมายตัวแทนเข้าหารือในการประชุมของคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พรรคการเมืองขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย และวุฒิสภา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. นี้

โดยสมาชิกทยอยเข้าประชุม ฝ่ายเสียงข้างมาก ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย สุทิน คลังแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ มนพร เจริญศรี สส.นครพนม และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ รวมถึง พรรคภูมิใจไทย ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และโฆษกพรรค และ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี 

พรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค พรรครวมไทยสร้างชาติ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และโฆษกพรรค และพรรคพลังประชารัฐ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคเสรีรวมไทย วิรัตน์ วรศริน รองหัวหน้าพรรค พรรคชาติพัฒนากล้า นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล พรรคชาติไทยพัฒนา เสมอกัน เที่ยงธรรม สส.สุพรรณบุรี และโฆษกพรรค

รวมถึงผู้แทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังสังคมใหม่ เพื่อไทรวมพลัง และพรรคใหม่

สำหรับฝ่ายเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.แบบบัญชีรายชื่อ และ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ 

พรรคไทยสร้างไทย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรค นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรค พรรคเป็นธรรม ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค และ กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มี สุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง เป็นตัวแทนเพียงผู้เดียว

ด้านตัวแทนฝั่งวิปวุฒิสภา ประกอบด้วย สมชาย แสวงการ และ มหรรณพ เดชวิทักษ์ สว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเข้าประชุม บรรดาตัวแทนแต่ละฝ่ายทยอยเข้าสู่ที่ประชุม ขณะที่ระหว่างสื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพในห้องประชุม วันมูหะมัดนอร์ ยังไม่ได้กล่าวเปิดการประชุม เพียงเชิญให้สื่อมวลชนออกจากห้อง โดยระบุเพียงว่า หลังการประชุมจะชี้แจงรายละเอียดให้ทราบ ขณะที่ สส.ฝั่งพรรคเพื่อไทย มีท่าทีผ่อนคลาย พูดคุยอย่างเป็นกันเอง และ สส.ฝั่งพรรคก้าวไกล มีการพูดคุยหารือกันเองภายในพรรค

ทั้งนี้ คาดว่าวาระหลักในการประชุม จะหาข้อสรุป เรื่องกรอบเวลาในการโหวตนายกรัฐมนตรี หาหรือว่าควรจะเปิดโอกาสให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เข้าที่ประชุมสภาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ รวมถึงญัตติของ รังสิมันต์ โรม ว่าด้วยการขอทบทวนมติของรัฐสภาที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระจากการประชุมคราวที่แล้ว จะหาข้อสรุปอย่างไร ให้การประชุมดำเนินต่อไปได้