ไม่พบผลการค้นหา
แดเนียล โซแคตช์ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพของเขา ไปกับการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันแก่ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ ในฐานะซีอีโอของกองทุนอิสราเอลใหม่ (New Israel Fund) โซแคตช์บริหารองค์กรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งพยายามส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกัน สำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล

โซแคตช์รู้สึกตกใจอย่างมาก เมื่อเขาทราบข่าวการสังหารหมู่พลเรือนอิสราเอลของกลุ่มฮามาส เมื่อช่วงวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ทำให้โซแคตช์ตกใจยิ่งกว่านั้น คือปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้แบบฉับพลันจากเพื่อนของเขาบางคน ซึ่งก็เป็นผู้สนับสนุนสิทธิชาวปาเลสไตน์เช่นกันกับเขา “ปฏิกิริยาดังกล่าวมีกลิ่นของการต่อต้านชาวยิว” โซแคตช์กล่าว “คุณสามารถเฉลิมฉลองการสังหารหมู่คนเหล่านั้นได้ เพียงเพราะพวกเขาเป็นชาวอิสราเอล ในแบบที่คุณทำไม่ได้ที่อื่นในโลก”

แทนที่จะประณามและไว้ทุกข์ในวันที่มีชาวยิวเสียชีวิตจำนวนมาก นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมา กลุ่มนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายต่างๆ ในระดับรากหญ้าดูเหมือนจะเฉลิมฉลองการโจมตีดังกล่าว ในฐานะการกระทำอันเป็นวีรกรรมของชาวปาเลสไตน์ 

กลุ่มนักศึกษาเพื่อความยุติธรรมในปาเลสไตน์ เรียกการสังหารพลเรือนอิสราเอลโดยฮามาสว่าเป็น "ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับการต่อต้านโดยชาวปาเลสไตน์" ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรขององค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 34 แห่ง ออกแถลงการณ์ว่าพวกเขา "ถือว่ารัฐบาลอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น" 

นอกจากนี้ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา (DSA) ออกมาสนับสนุนการชุมนุมที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในนิวยอร์ก ซึ่งมีรายงานว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่างตะโกนว่า “การต่อต้านเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เมื่อผู้คนถูกยึดครอง” ยังมีการแสดงสัญลักษณ์สวัสดิกะ ในขณะที่บัญชีผู้ใช้ X จากกลุ่ม Black Lives Matter ชิคาโก ได้โพสต์ภาพของพลร่มร่อนที่ประดับธงปาเลสไตน์ เพื่อเฉลิมฉลองแก่ฮามาสที่ลงมาสังหารชาวอิสราเอลหลายร้อยคนในงานเทศกาลดนตรี

“การเชิดชูและการให้เหตุผลในการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ไม่ใช่สิ่งที่ผมเห็นมันมาในขบวนการนี้ตลอด 25 ปีที่ผมดูแลมัน” โอเรน ซีกัล รองประธานศูนย์ต่อต้านลัทธิหัวรุนแรง ของกลุ่มต่อต้านการหมิ่นประมาท (ADL) กล่าว

การตอบสนองแบบหูหนวกตาบอดของนักศึกษามหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่สะใจต่อการตายของชาวอิสราเอล ไม่แพ้ท่าทีอันโหดร้ายของทางการอิสราเอลต่อชีวิตของชาวปาเลสไตน์ “เรากำลังต่อสู้กับสัตว์ที่เป็นมนุษย์ และเราก็ปฏิบัติไปตามนั้น” ยูอาฟ กัลลันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอลกล่าว “ยกระดับในพื้นที่ซะ” ลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกจากมลรัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐฯ กล่าวถึงปฏิบบัติการของกองทัพอิสราเอลในฉนวนกาซา

ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงต่ออิสราเอล จากคนบางกลุ่มที่เป็นฝ่ายซ้ายยังสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางอุดมการณ์ที่สำคัญในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2557 ผลสำรวจของ Gallup พบว่า ผู้สนับสนุนช่วงวัยมิลเลนเนียลของพรรคเดโมแครต มีท่าทีเข้าข้างชาวอิสราเอลมากกว่าชาวปาเลสไตน์กว่า 25 คะแนน เมื่อพวกเขาถูกถามถึงความคิดเห็นของพวกเขา เกี่ยวกับความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่ในปี 2566 นี้ ผู้สนับสนุนช่วงวัยมิลเลนเนียลของพรรคเดโมแครต กลับเข้าข้างชาวปาเลสไตน์เหนือชาวอิสราเอลกว่า 11 แต้ม จากเดิมที่ 36 แต้ม ในขณะที่ศูนย์วิจัย Pew พบว่าเมื่อปีที่แล้ว 56% ของชาวสหรัฐฯ ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออิสราเอลนัก

การต่อต้านยิวในสหรัฐฯ มีเพิ่มสูงขึ้น โดยตามข้อมูลของ ADL เหตุการณ์ต่อต้านชาวยิวในสหรัฐฯ มีพุ่งสูงสุดในปี 2565 นับตั้งแต่ทางกลุ่ม ADL เริ่มเก็บบันทึกข้อมูลในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 36% ในปีเดียว นอกจากนี้ งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้โดย ADL พบว่า ความเชื่อในการต่อต้านยิวในหมู่ประชาชนชาวสหรัฐฯ มีพุ่งสูงขึ้น โดย 85% ของชาวสหรัฐฯ เชื่อต่อความคิดของกลุ่มต่อต้านชาวยิวอย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม เพิ่มขึ้นจาก 61% ในปี 2562

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวสหรัฐฯ เชื้อสายยิวจำนวนมากรู้สึกราวกับว่า ความรู้สึกต่อต้านอิสราเอลและการต่อต้านชาวยิวที่เพิ่มขึ้น มีปรากฏให้พวกเขาได้เห็น อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวโดยฮามาส “มันเป็นการย้อนกลับไปสู่ความคิดที่ว่าสำหรับชาวยิวที่ถูกสังหาร พวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นเอง พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าอาณานิคม มันเป็นการกล่าวโทษชาวยิวสำหรับความโชคร้ายของพวกเขาเอง” ไมค์ รอธไชลด์ ผู้สื่อข่าวและนักเขียนเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิว กล่าว "มันเคยมีอยู่ในวาทกรรมของฝ่ายขวา แต่ผมเห็นมันโผล่มาจากฝ่ายซ้ายมากกว่าที่ผมเคยเห็นมามาก"

แม้จะมีสถานการณ์ที่เลวร้าย แต่การตอบสนองต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวโดยฮามาสจากฝ่ายซ้าย ทำให้ชาวยิวจำนวนมากรู้สึกตกใจ “ผมปกป้องสิทธิของผู้คนในการวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลมาโดยตลอด แม้จะรุนแรงมาก และไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านยิว” โซแคตช์กล่าว “มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างรุนแรง ต่อสิ่งที่อิสราเอลทำในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา กับการเฉลิมฉลองการฆาตกรรม การทรมาน และการข่มขืนผู้บริสุทธิ์”

การวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลหรือนโยบายของอิสราเอล ไม่ใช่เรื่องต่อต้านชาวยิว มิหนำซ้ำชาวยิวจำนวนมากก็ต่างวิจารณ์รัฐอิสราเอลเช่นกัน แต่ความรุนแรงของความรู้สึกต่อต้านอิสราเอล และปฏิกิริยาที่ไม่เห็นอกเห็นใจต่อการสังหารหมู่ชาวยิวจากคนบางส่วนของกลุ่มซ้ายหัวก้าวหน้า ได้เผยให้เห็นช่องโหว่ทางการเมืองและช่องว่างในประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ 

กลุ่มฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่จำนวนมาก ถือเอาการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์ กับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติในสหรัฐฯ ภายใต้เกณฑ์ทวิลักษณ์อันแบนราบ ระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ “มันเป็นไปไม่ได้สำหรับบางคน ที่จะระบุว่าเป็นคนหัวก้าวหน้า และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ชาวปาเลสไตน์จะได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป” โอมาร์ แบดเดอร์ นักวิเคราะห์การเมืองชาวปาเลสไตน์-สหรัฐฯ กล่าว “มันไม่ต่างจากการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ไม่ต่างจากกฎหมาย จิม โครว์”

พลังแบบเดียวกันที่ดึงดูดคนหนุ่มสาวสหรัฐฯ จำนวนมาก ให้ถอยตัวเองออกห่างไปมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น Black Lives Matter, กระแสการใช้โซเชียลมีเดีย และขบวนการ Occupy ยังดึงให้คนรุ่นใหม่สหรัฐฯ เข้าใกล้การเคลื่อนไหวเพื่อการปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์มากขึ้นอีกด้วย 

ก่อนหน้านี้ นักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์และผู้ประท้วง Black Lives Matter ก่อเหตุร่วมกันท่ามกลางการลุกฮือเฟอร์กูสันในปี 2557 เมื่อชาวปาเลสไตน์แนะนำผู้ประท้วง Black Lives Matter เกี่ยวกับวิธีต่อต้านตำรวจที่ติดกำลังทหาร “มันมีส่วนผสมระหว่างผู้ประท้วง Occupy และผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ที่รวมตัวกัน ซึ่งสอนเราว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเราถูกแก๊สน้ำตา” เดอเรย์ แม็คเคสสัน นักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงเฟอร์กูสันที่มีความโดดเด่นที่สุดกล่าว

ในเวลาเดียวกัน โซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้นักเคลื่อนไหวชาวสหรัฐฯ รุ่นใหม่พบกับเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการทารุณโหดร้ายของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ และทำให้พวกเขาได้ยินเสียงชาวปาเลสไตน์ มากกว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาเคยดูมันผ่านเคเบิลทีวี 

ในลักษณะเดียวกับที่วิดีโอในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปลุกคนรุ่นหนึ่งให้ตระหนักถึงความเป็นจริงของความรุนแรงของตำรวจต่อคนสหรัฐฯ ผิวดำ โซเชียลมีเดียได้เผยแพร่การรับรู้ถึงความเป็นจริงในพื้นที่ฉนวนกาซา “คุณมีคนรุ่นหนึ่งที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย มากกว่าการออกอากาศทางโทรทัศน์” วาลีด ชาฮิด นักยุทธศาสตร์ทางการเมืองหัวก้าวหน้า ที่เคยทำงานให้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส และกลุ่มจัสติสเดโมแครตกล่าว “มีคนรุ่นหนึ่งที่โตมากับภาพของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกไล่ออกจากบ้านโดยผู้ยึดครอง หรือจุดตรวจ หรือกำแพงที่แบ่งแยก”

การที่รัฐบาลอิสราเอลเริ่มเป็นฝ่ายขวามากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และแรงสนับสนุนต่ออิสราเอลอย่างเด่นชัดของฝ่ายขวาสหรัฐฯ ได้ผลักดันให้คนหนุ่มสาวฝ่ายซ้าย ก้าวไปสู่การมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์มากขึ้น 

“มันเป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าอิสราเอลเป็นสิ่งที่ดี เพราะเรารู้เพียงว่าอิสราเอลเป็นสถานที่ซึ่งสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นและสิ่งต่างๆ เลวร้ายลงเรื่อยๆ” แม็กซ์ เบอร์เกอร์ นักยุทธศาสตร์หัวก้าวหน้า ที่ทำงานให้กับองค์กรเสรีนิยมชาวยิว J Street และผู้ร่วมก่อตั้ง IfNotNow ซึ่งเป็นขบวนการของชาวสหรัฐฯ เชื้อสายยิว ที่ทำงาน "เพื่อยุติการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติของอิสราเอล" กล่าว

อย่างไรก็ดี ผลดีของขบวนการ Occupy ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ เห็นภาพของธนกิจการเมือง หรือการเมืองที่ใช้เงิน โดยนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่บางคน รวมถึงชาวยิวจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขารู้สึกหงุดหงิดมากขึ้น กับบทบาทของกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่สนับสนุนอิสราเอลในการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินจำนวนมากที่ใช้ไปเพื่อการโจมตีผู้สมัครที่มีหัวก้าวหน้า 

ทั้งนี้ เบอร์เกอร์กล่าวว่า งบประมาณใช้จ่ายของคณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกันอิสราเอล (AIPAC) เพื่อการส่งเสริมนักการเมืองที่สนับสนุนอิสราเอล ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนฝ่ายซ้ายสหรัฐฯ ในการมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อเป้าหมายที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ จากการโจมตีของกลุ่มนิยมอิสราเอลที่มีมากขึ้น “หากผู้คนที่มีอำนาจและเงินจำนวนมหาศาลบดขยี้ใครก็ตามที่ยังตั้งคำถามเรื่องนี้อยู่ นั่นจะกลายเป็นสิ่งที่คุณมุ่งความสนใจไปที่มัน” เบอร์เกอร์กล่าวกล่าวเสริม “มันทำให้เกิดแรงดึงดูด”

อย่างไรก็ดี โวหารอันน่าตกใจจากฝ่ายซ้ายสุดโต่ง ในการสนับสนุนการสังหารพลเรือนอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส ทำให้เป็นการยากต่อการต่อต้านทางการเมืองในวงกว้าง ในประเด็นภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในฉนวนกาซา ซึ่งแน่นอนว่ากระแสต่อต้านชาวยิวของกลุ่มฝ่ายซ้ายสหรัฐฯ จะส่งผลให้เด็กผู้บริสุทธิ์ในฉนวนกาซาเสียชีวิต จากการโจมตีโดยอิสราเอลเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้ ผู้นำหัวก้าวหน้าหลายคน รวมถึง เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ  และ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความหวาดกลัว ต่อการสังหารหมู่ต่อชาวยิวโดยฮามาส แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ประกาศสนับสนุนการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ไปพร้อมๆ กัน 

โอคาซิโอ-คอร์เตซประณามการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ ที่ DSA ให้การสนับสนุนในแมนฮัตตัน “ไม่ควรเป็นเรื่องยากที่จะยุติความเกลียดชัง และการต่อต้านชาวยิวในที่ที่เราพบเห็น” โอคาซิโอ-คอร์เตซกล่าวกับ Politico พร้อมประณาม “ความคลั่งไคล้และความใจแข็ง” ของกลุ่มบุคคลใดที่มีต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวโดยฮามาส

แต่สำหรับเยาวชนสหรัฐฯ ฝ่ายซ้ายจำนวนมาก การสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ชาวอิสราเอลแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในความเชื่อทางศีลธรรม ที่ลดให้สถานะของความขัดแย้งทางการเมืองส่วนใหญ่ เหลือเพียงแค่การต่อสู้ที่ซ่อนอยู่ระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ “ค่าเริ่มต้นของฝ่ายซ้าย คือการเข้าข้างเหยื่อและปกป้องพวกเขา” เบอร์เกอร์กล่าว และในความขัดแย้งที่คุกรุ่นมายาวนานระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ “ดูไม่เหมือนกับว่าชาวยิวนั้นตกเป็นเหยื่อ” ในสายตาของเยาวชนฝ่ายซ้ายหัวสุดโต่ง


ที่มา:

https://time.com/6323730/hamas-attack-left-response/?fbclid=IwAR0bdYy-5GQuiKZu7qYUROjv3JmFrTP7pUp7qR30IBSddh_IjgiUW_KS0yM