วันที่ 9 ต.ค. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระการพิจารณากระทู้ถาม สุวัฒน์ จิรพันธ์ สว. ตั้งกระทู้ถามสด ถึงเรื่องของการดำเนินความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาท ซึ่งไม่อยากพูดถึงผลกระทบการการแสดงออกที่บางครั้งเร็วเกินไปและมีพี่น้องชาวไทยอยู่ในการควบคุมของกลุ่มฮามาส พร้อมทั้งอยากทราบถึงช่องทางในการติดต่อหรือความพยายาม หาทางช่วยเหลือคนไทย ในการรับพี่น้องชาวไทยร่วม 30,000 คน
จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้ถาม โดยยืนยันว่า รัฐบาลใหัความสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางตัวเป็นกลางระหว่างปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวมาโดยตลอด
โดยสนับสนุนแนวทางสองรัฐ ตามแนวทางที่มีรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่คู่กัน เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ และข้อตกลง UNSC และที่เกี่ยวข้อง เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลปาเลสไตน์ต้องเจรจากัน เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืน รัฐบาลเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและสันติ ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยกรเจรจาอย่างสันติเท่านั้น
ประเทศไทยหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะตระหนักถึงความสำคัญของการเจรจา ซึ่งจะเป็นการรักษาโอกาสบรรลุข้อตกลงอย่างสันติ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการประณามความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีคนไทยที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกลักพาตัว ขณะนี้การปกป้องดูแลความปลอดภัยของคนไทย และการนำคนไทยกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยในโอกาสแรกที่ทำได้ เป็นภารกิจที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลอิสราเอลและปาเลสไตน์ และทุกส่วนมี่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงสันติภาพ ความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการปล่อยตัวชาวไทยที่ถูกจับกุมกลับออกมาอย่างปลอดภัย และรัฐบาลกำลังเจรจากับรัฐบาลปาเลสไตน์ และอียิปต์ เพื่อช่วยคนไทยที่อยู่บนพื้นที่
โดยได้เตรียมเครื่องบินที่จะอพยพชาวไทยที่อยู่ในปาเลสไตน์ จำนวนแรงงานที่มีอยู่กว่า 30,000 คน การจะจัดการขนส่งตั้งแต่ภายในประเทศในทางบกก็มีการวางแผนกันไว้แล้ว ถ้าสนามบินที่อิสราเอลสามารถนำเครื่องลงได้ ก็จะนำเครื่องลงที่นั่น แต่หากไม่ได้ ก็จะไปทางประเทศรอบๆ เช่น จอร์แดน หรือ บาห์เรน
ส่วนช่องทางการติดต่อ กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดช่องทาง hotline และที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล และที่กระทรวงการต่างประเทศก็เปิดคู่สายไว้ทั้งหมด
ขอขอบคุณช่องทางของ สส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ได้ส่งข้อมูลของผู้เดือดร้อนมาแล้วเช่นกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้รับเรื่องและกำลังประสานให้ความช่วยเหลือแล้ว
จักรพงษ์ ยังยืนยัน พร้อมรับข้อเสนอของ สว. ที่แนะนำว่าให้พูดคุยเจรจากับทางอาเซียน รวมทั้งเพื่อนบ้านในแถบอิสราเอล เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการต่างประเทศ คำนึงถึงการลงทุนและการค้าในอนาคตด้วย ซึ่งเปนหนึ่งในนโนบายหลักของนายกรัฐมนตรี และขอยืนยันในสภานี้ว่า จะใช้ทุกวิถีทาง ทุกหน่วยงานที่สามารถทำได้ ในการจะพาคนไทยทุกคนกลับมา แม้จะมี 30,000 คน เราก็ทราบว่าเป็นจำนวนที่เยอะ แต่เราได้คุยกับทั้งทางกองทัพ และภาคเอกชน เพื่อจะให้มีช่องทางในการพาคนไทยทุกคนกลับมา