นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงานวิจัยที่ไมโครซอฟท์และไอดีซีทำร่วมกัน ได้เผยถึงช่องว่างที่ยังต้องเติมเต็มในแง่ของทักษะและศักยภาพบุคลากรในตลาดแรงงานไทย ขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
ผลวิจัยดังกล่าว มีที่มาจากการสำรวจองค์กรธุรกิจ 101 แห่งในประเทศ ยังพบอีกว่า เกือบครึ่งหนึ่งของธุรกิจเหล่านั้นยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ใช้ประโยชน์จาก AI ได้
ขณะที่ เทคโนโลยี AI มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของทั้งธุรกิจและผู้บริโภค ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ ยิ่งนับวันก็ยิ่งมีสายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากในปัจจุบันจะเรียนจบออกมาสู่ตลาดแรงงานที่เต็มไปด้วยตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน
แม้ว่าธุรกิจจำนวนมากได้เริ่มให้ความสนใจกับศักยภาพของ AI ในการขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถของพวกเขา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรเหล่านั้นจะลงทุนไม่ใช่เพียงในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาคนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ รายงานวิจัยร่วมระหว่างไมโครซอฟท์และไอดีซีระบุว่า มีองค์กรธุรกิจไทยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่วางแผนและเริ่มต้นการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับเทคโนโลยี AI อย่างครอบคลุมและเต็มที่แล้ว ขณะที่ ร้อยละ 32 เริ่มการพัฒนาในบางส่วน ขณะที่องค์กรที่ีร่วมในการสำรวจความคิดเห็นถึงร้อยละ 48 ยังไม่เริ่มดำเนินการใดๆ โดยในกลุ่มนี้ มีถึงร้อยละ 21 ที่ยังไม่มีแผนดำเนินงานด้านทักษะของพนักงานเลย
"ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคคลทุกเพศทุกวัยมาเป็นอันดับแรก เราส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้วยเครื่องมือและทักษะที่เหมาะสม ผ่านโครงการต่างๆ เช่น Hour of Code #MakeWhatsNext และการแข่งขัน Imagine Cup เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่มีความพิเศษและโดดเด่นด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี ส่วนนักพัฒนาซึ่งต้องการเริ่มต้นใช้งาน AI ก็สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในอีกหลายโครงการ เช่น Microsoft AI School โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต ทั้งองค์กรและบุคคลต้องมองการณ์ไกลกว่าแค่การใช้เทคโนโลยี แต่ต้องมุ่งมั่นที่จะบุกเบิกเส้นทางแห่งความสำเร็จตามแนวทางของตนเอง" นายธนวัฒน์ กล่าว
นายไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าวว่า ยังมีข่าวดีอยู่บ้างในด้านของการยอมรับว่าบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นแนวคิดที่ชัดเจนและค่อนข้างแพร่หลายในประเทศไทย โดยธุรกิจไทยร้อยละ 77 ระบุว่าพวกเขาจะลงทุนในตัวพนักงานให้ทัดเทียมกับหรือมากกว่าเทคโนโลยี AI
นอกจากนี้ บริษัทและพนักงานยังมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับบทบาทหลักของผู้ว่าจ้างในการเสริมสร้างทักษะให้กับแรงงาน โดยร้อยละ 93 ของผู้นำองค์กร และร้อยละ 89 ของพนักงานมองว่าองค์กรต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองที่ประเด็นผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ต่อการทำงานในอนาคต ทั้งสองฝ่ายต่างมองไปในทางเดียวกัน โดยร้อยละ 77 ของผู้นำองค์กร และร้อยละ 58 ของพนักงาน คาดหวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้พวกเขาสามารถทำงานได้ดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ผู้นำธุรกิจ ร้อยละ 13 และแรงงานร้อยละ 19 มองเห็นโอกาสใหม่ๆ จากตำแหน่งงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ และมีผู้นำธุรกิจเพียงร้อยละ 5 และพนักงานร้อยละ 13 เท่านั้นที่เชื่อว่า AI จะมาแย่งงานจากมนุษย์
3 ทักษะสำคัญที่แรงงานไทยต้องพัฒนา
นอกจากนี้ ในรายงานวิจัยดังกล่าว ยังระบุถึงทักษะสำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับตำแหน่งงานในอนาคต โดยผู้นำองค์กรธุรกิจไทยระบุว่าทักษะที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับบุคลากรในอนาคต ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ (ร้อยละ 52) ทักษะทางดิจิทัล (ร้อยละ 51) และทักษะการคิดวิเคราะห์หรือทักษะด้านสถิติ (ร้อยละ 50)
โดยผลวิจัยยังคาดการณ์ว่าปริมาณแรงงานที่มีทักษะในทั้งสามด้านนี้ และความสามารถในการวิจัยและการพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้า
โดยอีกข้อมูลสำคัญที่น่าสังเกตคือความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของผู้นำธุรกิจและพนักงาน ในการเลือกทักษะสำคัญที่ต้องพัฒนาเพื่ออนาคต โดยผู้บริหารในองค์กรไทยเชื่อว่า บุคลากรที่มีความสามารถจำเป็นต้องมีมากกว่าแค่ทักษะทางเทคนิค
ขณะที่ 3 ทักษะที่มีช่องว่างมากที่สุดระหว่างมุมมองของผู้นำและพนักงานในเรื่องความสำคัญคือ การบริหารจัดการโครงการ (แตกต่างกัน ร้อยละ 16) ความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการคน (แตกต่างกันร้อยละ 14) และความคิดสร้างสรรค์ (แตกต่างกันร้อยละ 13)
ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกไม่เชื่อมั่นในด้านความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรสำหรับการนำเทคโนโลยี AI มาใช้มากกว่าผู้บริหาร โดยพนักงานกว่าร้อยละ 72 เชื่อว่าองค์กรของตนไม่อนุญาตให้พนักงานรับมือกับความเสี่ยง ทำการตัดสินใจ หรือปรับเปลี่ยนระบบงานให้รวดเร็วฉับไวยิ่งขึ้น ขณะที่ราวร้อยละ 45 มองว่าผู้บริหารในองค์กรของตนยังขาดการผลักดันให้ทุกคนร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกจากระดับผู้นำ