วันที่ 12 ต.ค. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้เชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ผ่าน เว็บไซต์ Change.org ภายใต้หัวข้อ "เสนอให้วันที่ 6 ต.ค. เป็นวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนนักศึกษาสากล ต่อ UN" โดยล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 12 ต.ค. 2564 มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญดังกล่าว จำนวน 4,188 คน ทั้งนี้หากมีรายชื่อถึง 5,000 รายชื่อ ประเด็นดังกล่าวจะถูกพูดถึงในวงกว้าง
โดย อบจ. ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ดังกล่าวว่าได้เสนอให้วันที่ 6 ต.ค. เป็น วันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนนักศึกษาสากล (the International Day for the Protection of Students’ Freedom of Expression)เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่รัฐบาลกระทำอาชญากรรมโดยรัฐอย่างโหดเหี้ยมในพื้นที่มหาวิทยาลัย พร้อมระบุว่า เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 นักเรียนนักศึกษาและประชาชนชาวไทยได้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลยอมให้จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกเผด็จการที่ถูกประชาชนโค่นล้มไปในวันที่ 14 ต.ค. 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นส่วนหนึ่งในคลื่นของขบวนการเคลื่อนไหวนักเรียนนักศึกษาที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในหลากหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเซีย
การชุมนุมได้จบลงที่การปราบปรามอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มขบวนการประชาชนที่ถูกปลุกระดมให้เกลียดชังนักศึกษา มีผู้เสียชีวิตและสาบสูญจำนวนมาก ไม่รวมที่บาดเจ็บสาหัสทางกายและใจจวบจนปัจจุบัน
แม้เหตุการณ์รุนแรงนี้จะถูกบันทึกวิดีโอไว้ หรือมีการบันทึกภาพถึงขนาดได้รางวัลพูลิตเซอร์ รัฐไม่เคยออกมายอมรับหรือขอโทษในกรณีอาชญากรรมที่ก่อขึ้นในปี 2519 แต่อย่างใด อีกทั้ง ยังไม่มีการบันทึกหรืออภิปรายในแบบเรียนไทย กระนั้น อุดมคติของคนหนุ่มสาวและความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ถูกลืมโดยนักเรียนนักศึกษาและประชาชนรุ่นหลัง ซึ่งตอนนี้กำลังพูดถึง รำลึก และศึกษาวิจัยเหตุการณ์นี้อย่างกว้างขวาง
"การชุมนุมที่นำโดยนักเรียนนักศึกษาในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ต้องเจอกับการปราบปรามและความรุนแรงจากตำรวจอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยมุ่งจะดำเนินคดีกับนักกิจกรรมจำนวนมาก หลายคนในนั้นเป็นนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่เพียงออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น"
วันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนนักศึกษาสากล เนื่องในโอกาส 45 ปี 6 ตุลาฯ เพื่อย้อนรำลึกผู้เสียชีวิต และบรรดาเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นภายในสถาบันการศึกษาทั่วโลก ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยควรจะตระหนักถึงความรุนแรงซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายหลักการการแสวงหาความรู้อิสระในมหาวิทยาลัย และควรส่งเสริมการปกป้องสิทธิการแสดงออกอย่างแข็งขัน รวมถึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนา
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องจัดการกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของหลักการที่สนับสนุนการค้นหาความรู้และการแสดงออกอย่างอิสระในสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ พวกเราจำเป็นต้องรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอันแสนเจ็บปวด และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันซ้ำขึ้นอีก
องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอว่า วันที่ 6 ต.ค. เป็นวันที่เหมาะสมที่สมควรจะถูกสถาปนาเป็น วันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนนักศึกษาทั่วโลก
สำหรับรายชื่อองค์กรผู้สนับสนุนแรกเริ่ม ประกอบด้วย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะจุฬาฯ Spring Movement กลุ่มแสงโดม พรรคโดมปฏิวัติ กลุ่มนักเรียนเลว และพรรคจุฬาของทุกคน
อบจ.ยังระบุว่า ท่านสามารถร่วมแสดงออกผ่าน Social Media ของท่านโดยการชูป้ายที่มีข้อความสนับสนุนข้อเสนอ อาทิ #ProtectStudentsFreedomDay, #ProtectStudentsFreedom, #StopStudentsArrest, International Day for the Protection of Students’ Freedom of Expression หรือข้อความที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นเองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอื่น ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงข้อประเด็นและข้อเรียกร้องดังกล่าวในประเทศและในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้เวลาต่อมา เครือข่ายองค์กรนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ จำนวน 74 องค์กรนำโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเคียงข้างในข้อเรียกร้องร่วมกับองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)
ภาพข่าว - โครงการบันทึก 6 ตุลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง