ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นเผชิญหน้าเศรษฐกิจอ่อนแอ ไวรัสโคโรนา ย้ำจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกต่อท่ามกลางเสียงวิจารณ์ศักยภาพในการจัดการวิกฤต

ในช่วงไตรมาส 4/2562 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นติดลบถึงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จนนักวิเคราะห์หลายคนออกมาชี้ว่า ประเทศอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว 

ส่วนหนึ่งของจีดีพีที่หดตัวต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญนี้มาจากมาตรการขึ้นภาษีการบริโภคช่วงเดือนตุลาคม ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองทั้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย 

เดิมที 'ชินโซ อาเบะ' นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ยังมองเห็นความหวังการฟื้นคืนของเศรษฐกิจได้บ้างจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนึ้ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นกลับต้องมาเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่กระทบเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการยกเลิกการจองห้องพักรวมถึงเที่ยวบินต่างๆ โดยเฉพาะจากชาวจีนที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและนอกประเทศเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับประเด็นเรือสำราญ Diamond Princess

'ฮิโตชิ โอชิตานิ' ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยโทโฮกุ กล่าวถึงกรณีเรือสำราญว่า "มาตรการกักกันเรือสำราญเป็นกลยุทธ์แบบศตวรรษที่ 19 แต่ก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับการตัดสินใจ" อย่างไรก็ตาม โอชิตานิ ชี้ว่า "ประเด็นเรือสำราญกำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะประเด็นทางการเมือง"

ในทำนองเดียวกัน 'โคอิชิ นากาโนะ' ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยโซเฟีย ชี้ว่า อาเบะไม่ได้แสดงความสามารถในการจัดการยามวิกฤตได้เหมาะสม โดยเฉพาะกับกรณีเรือสำราญ

นากาโนะ กล่าวว่า "แทนที่จะแสดงความเข้มแข็งและทำให้นานาชาติเชื่อมั่นในการบริหารจัดการช่วงวิกฤตของญี่ปุ่นก่อนที่โอลิมปิคจะมาถึง เขากลับทำตรงข้ามทุกอย่างและทำให้นานาชาติกังขาความสามารถในการจัดการของญี่ปุ่น"

ขณะที่ 'ไมเคิล คูเค็ก' รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเอเชีย มหาวิทยาลัยเทมเปิลในโตเกียว กล่าวถึงสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญว่า "สรรพสิ่งมันผิดที่ผิดทางพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แค่กับอาเบะ แต่กับญี่ปุ่นทั้งหมด"

ผิดที่ผิดทางผิดเวลาสำหรับ 'อาเบะ'

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนายังมาเกิดขึ้นในช่วงที่ฝ่ายสนับสนุนกำลังร่วมผลักดันให้อาเบะได้อยู่ในตำแหน่งถึง 14 ปี เนื่องจากอาเบะจำหมดวาระนายกรัฐมนตรีปัจจุบันในปีหน้า 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น คะแนนความนิยมของอาเบะลดลงถึง 8.3 จุด จากเดือนมกราคม ลงมาอยู่ที่ประชาชนเพียงร้อยละ 36 พึงพอใจกับการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้แกนนำของอาเบะ

ฝ่ายตรงข้ามของอาเบะหรือแม้แต่ฝ่ายสนับสนุนหลายคนออกมาวิจารณ์ว่า อาเบะ "อ่อนข้อ" ให้กับจีนมากเกินไป เนื่องจากไม่ยอมสั่งมาตรการระงับการเดินทางเข้าประเทศของคนจีนในช่วงปลายเดือนมกราคม ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงสถานการณ์การระบาดแล้ว 

อีกทั้งก่อนหน้านี้ เว็บไซต์สถานทูตญี่ปุ่นในปักกิ่งยังขึ้นข้อความว่า "เราตั้งตาคอยนักท่องเที่ยวมายังญี่ปุ่น" ซึ่งทำให้ 'ชู วาตานาเบะ' ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลออกมาวิจารณ์ว่าเขาและ "ทุกคนไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำแบบนั้นไปทำไม" ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวถูกลบออกไปจากเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

'คูเค็ก' ชี้ว่า ญี่ปุ่นพัฒนาแผนการดูแลสถานการณ์ช่วงวิกฤตมาตลอด นับตั้งแต่แผ่นดินไหวในปี 2554 แต่ "วิกฤตต้องการความเป็นผู้นำ นั่นคือสิ่งที่หายไป คนที่ยอมจะเลือกการตัดสินใจที่ยากหายไป"

แม้จะเผชิญความยากลำบากในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาแต่ อาบะและรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะจัดงานโอลิมปิกอย่างเดิม และย้ำว่าญี่ปุ่นได้รับความ "มั่นใจเต็มที่" จากคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่น ณ วันที่ 23 ก.พ. (เวลา 14.20 น.) ตามข้อมูลจากสำนักข่าวเจแปนไทมส์อยู่ที่ อย่างน้อย 769 ราย ซึ่งนับรวมผู้ที่เพิ่งได้รับการตรวจสอบว่าติดเชื้อในวันอาทิตย์ (23 ก.พ.) จำนวน 26 รายแล้ว โดยส่วนมากมาจากเรือสำราญ Diamond Princess เป็นหลัก

อ้างอิง; CNBC, The Diplomat

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;