ผู้สื่อข่าว รายงานการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและภูเก็ตก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า เมื่อเวลา 07.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง มายังท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อลงพื้นที่ตรวจความพร้อมมาตรการคัดกรองโรคโควิด 19 รองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ
อนุทิน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดังนั้น การคัดกรองและกักกันโรคผู้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจึงมีความสำคัญ โดยได้เตรียมความพร้อมทั้งสนามบินสมุยและสนามบินภูเก็ต ทั้งการวัดไข้ ระบบตรวจคัดกรอง ระบบห้องปฏิบัติการ ระบบแอปพลิเคชันในการติดตาม โรงแรมที่ใช้ในการกักตัวเป็น ALQ รวมถึงบุคลากร ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยและสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด
อนุทิน กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้จำลองว่า มีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Vias (STV) เดินทางด้วยเครื่องบินถึงเกาะสมุย ใช้รถรางลำเลียงผู้โดยสารเข้ามายังทางเข้าอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ จากนั้นผ่านด่านคัดกรอง โดยทำความสะอาดมือและรองเท้า วัดอุณหภูมิร่างกาย หากระหว่างคัดกรองมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.3 องศาเซลเซียสหรือมีอาการตามนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จะถูกสอบสวนโรคที่ห้องแยกกัก พร้อมรายงานข้อมูลตามระบบ และส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกาะสมุย
“หากผ่านการวัดอุณหภูมิจะตรวจเอกสารทางราชการได้แก่ หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ Fit to Fly ผลตรวจปลอดเชื้อโควิด 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ใบจองโรงแรม ALQ หนังสือเดินทาง ประกันสุขภาพ 1 แสนเหรียญ ใบ ตม. แอปพลิเคชัน Samui Health Pass และแอปพลิเคชัน COSTE จากนั้นคัดกรองสุขภาพ พิธีการตรวจคนเข้าเมือง รับสัมภาระ และพิธีการศุลกากร จากนั้นเจ้าหน้าที่โรงแรมรับนักท่องเที่ยว ทำการเช็กอินออนไลน์ ทำลายเชื้อบนกระเป๋าเดินทาง และไปยังโรงแรมที่เป็นสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (Alternative Local Quarantine : ALQ) เพื่อกักตัว 14 วัน ตรวจหาเชื้อขณะกักตัวอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยส่งตรวจโรงพยาบาลเกาะสมุย เมื่อพบการติดเชื้อจะส่งรักษาโรงพยาบาลเกาะสมุย โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างกักกันและการรักษาโดยสมัครใจ หากไม่พบเชื้อเมื่อกักตัวครบ 14 วัน ก็สามารถไปท่องเที่ยวต่อได้ ทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อ เป็นการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย”
อนุทิน กล่าวว่า ขณะที่สนามบินภูเก็ตมีระบบการดำเนินการคัดกรองผู้เดินทางเช่นเดียวกัน โดยส่งตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 จังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์สามารถออกผลตรวจได้ภายใน 1 วัน มีการใช้ระบบแอปพลิเคชันติดตามตัว และมีมาตรการเชิงรุก เตรียมแผนเฝ้าระวังค้นหาในสถานพยาบาล ชุมชนพื้นที่เสี่ยง ประชากรกลุ่มเสี่ยง และเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มอาการและโรคทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ รวมถึงมีความพร้อมด้านสถานที่กักกันระดับจังหวัด (Local quarantine) และสถานที่กักกันทางเลือก ( Alternative Local Quarantine) ซึ่งผู้กักกันต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดเช่นกัน
อนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์และบทเรียนในการต่อสู้กับโรคโควิด 19 ทำให้สามารถควบคุมโรคนี้ได้เป็นอย่างดี อย่างการคัดกรองและกักกันโรคผู้เดินทางจากต่างประเทศก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มจากการเปิดให้คนไทยในต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามา แล้วจึงขยายให้ชาวต่างชาติตามที่กำหนดเดินทางเข้ามาด้วย จนเป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยสามารถควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 จากต่างประเทศไม่ให้แพร่ระบาดภายในประเทศได้ จึงขยายต่อในเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แม้ประเทศไทยจะมีระบบคัดกรองและกักกันโรคที่ดี แต่คนไทยยังต้องร่วมมือกันคงมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะ DMHT ที่เป็นวัคซีนที่ดีที่สุด ได้แก่ D:Distancing การเว้นระยะห่าง M:Mask Wearing สวมหน้ากาก H:Hand Washing การล้างมือ และ T:Testing การตรวจคัดกรองและรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงโรคโควิด 19 ได้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมแก้ไขปัญหาประปาจังหวัดภูเก็ต-พังงา ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอันดามัน มีปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคเกือบทุกปี
รัฐบาลจึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำ โดยใช้งบประมาณกลางปี 2564 จัดทำระบบผลิตน้ำจืด จากน้ำกร่อย และน้ำทะเล เพื่อรองรับการขยายตัว ทั้งชุมชนเมืองและการท่องเที่ยว ที่ต้องการใช้น้ำสูงขึ้น อย่างรวดเร็ว จากที่ต้องการน้ำปีละ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2575 คาดการณ์ว่ามีการต้องการใช้เพิ่มขึ้น 112 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี