ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ EHT รวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ซึ่งกระจายตัวในหลายพื้นที่ทั่วโลก เผยแพร่ภาพ 'หลุมดำ' ในกาแล็กซี M87 เป็นครั้งแรกของโลก

ภาพหลุมดำซึ่งรวบรวมโดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Event Horizon Telescope (EHT) ถูกเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ของ EHT อย่างเป็นทางการช่วงค่ำวันที่ 10 เม.ย.2562 และกลายเป็นข่าวสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถจับภาพของของหลุมดำไว้ได้

บัญชีทวิตเตอร์ของ EHT ระบุว่า ภาพหลุมดำที่บันทึกไว้ได้เป็น 'หลุมดำมวลยวดยิ่ง' หรือ super massive black hole ซึ่งอยู่ในใจกลางของดาราจักร หรือ กาแล็กซี 'เมซีเย 87' (Messier 87) หรือ M87 โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 38,000 ล้านกิโลเมตร 

ขณะที่เดอะวอชิงตันโพสต์ สื่อของสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเซรา มาร์คอฟ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ EHT ซึ่งระบุว่า กาแล็กซี M87 อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุด แต่ก็อยู่ห่างออกไปไกลถึง 54 ล้านปีแสง 

ทั้งนี้ ภาพหลุมดำภาพแรกของโลก เป็นการรวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ 10 ตัวซึ่งกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ที่เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญทั่วโลก และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากองค์กรอวกาศของหลายประเทศ ทั้งองค์การอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) รวมถึงมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (NSF) และองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป 

เชป โดลแมน ผู้จัดการโครงการและนักวิจัยอาวุโสของโครงการ EHT เปิดเผยว่า ภาพหลุมดำที่เผยแพร่เป็นครั้งแรกของโลกคือสิ่งที่เราไม่เคยคิดกันมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้เห็น และการสร้างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนจำนวนมากที่มาจากหลากหลายอาชีพ รวมกว่า 200 คนจาก 20 ประเทศ และ 60 สถาบันซึ่งมีความสนใจในประเเด็นวิทยาศาสตร์ร่วมกัน จึงเป็นโอกาสให้เราเปิดเผยบางส่วนของห้วงอวกาศที่ไม่เคยเห็นได้ในที่สุด ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง

https://pbs.twimg.com/media/D3y4-tfWAAA81cV.jpg:large
  • การแถลงข่าวและเผยแพร่ภาพหลุมดำครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม (EHT)

ขณะที่แดน มาร์โรน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมโครงการ ระบุว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ร่วมกันปฏิบัติงาน ทำให้เครือข่าย EHT มีข้อมูลมากมายมหาศาลเกี่ยวกับฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ประเมินคร่าวๆ เป็นดิสก์บรรจุข้อมูล 5 เพตะไบต์จำนวนกว่า 1,000 ตู้

ด้านเซรา มาร์คอฟ ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะถูกแบ่งปันไปให้องค์กรและสถาบันเครือข่ายได้ใช้ประโยชน์และพัฒนาวิจัยต่อยอด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลุมดำเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หลุมดำ หรือ black hole คือ เทหวัตถุในเอกภพที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมาก สิ่งใดที่เคลื่อนเข้าใกล้หรือผ่านเข้าไปยังหลุมดำจะติดอยู่ข้างใน ไม่สามารถหลุดออกมา เพราะแม้แต่แสงก็ไม่อาจผ่านหลุมดำได้ จึงไม่สามารถมองเห็นใจกลางของหลุมดำ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบคลื่นโน้มถ่วงของหลุมดำได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่

ส่วนต้นกำเนิดของหลุมดำเกิดจากสสารที่เคยประกอบกันเป็นดาวฤกษ์ขนาดมหึมาสิ้นสลายตามอายุขัย และถูกอัดตัวด้วยแรงดึงดูดของตนเอง จนเหลือเป็นเพียงมวลหนาแน่นที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่านิวเคลียสของอะตอมเดียว และในหลุมดำมี 'ขอบฟ้าเหตุการณ์' หรือ event horizon อยู่ วัตถุที่หลุดเข้าไปในขอบฟ้าเหตุการณ์ต้องมีความเร็วมากกว่าแสงจึงจะหลุดออกมาได้ 

  • พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนเผยแพร่ภาพจำลองการเก็บข้อมูลหลุมดำของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ